จากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดจันทบุรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการเห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ที่จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลักดันให้ไทยเป็น “มหานครผลไม้โลก” ภายในปี 2564 ผ่านการพัฒนาคุณภาพและช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งสนับสนุนด้านการเงินและทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผลไม้โดยเฉพาะผลไม้สดกลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2550 เป็น 1,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 หรือคิดเป็นการขยายตัวเฉลี่ยกว่า 21% ต่อปี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับการส่งออกรวมของประเทศที่ขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกผลไม้สดของไทยจะขยายตัวได้สูงต่อเนื่อง แต่หากหันมาดูส่วนแบ่งตลาดของผลไม้ไทยในตลาดโลกพบว่ายังไม่สูงมากนัก และยังเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากโครงสร้างการส่งออกผลไม้ของไทยที่ยังเผชิญกับ “สภาวะ 3 กระจุก” ดังนี้
กระจุกสินค้า การส่งออกผลไม้สดของไทยกระจุกตัวอยู่เพียงผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันเกือบ 90% ของมูลค่าส่งออกผลไม้สดทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ไทยยังเป็นผู้ผลิตผลไม้ Top 5 ของโลกอยู่อีกหลายชนิด โดยเฉพาะสับปะรด มะม่วง และมะละกอ ซึ่ง FAO ระบุว่าเป็นผลไม้เมืองร้อนซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลกและความต้องการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องปัจจัยดังกล่าวทำให้หากไทยสามารถประชาสัมพันธ์ และหาช่องทางการตลาดให้กับผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้มากขึ้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการส่งออกผลไม้เพียงไม่กี่ชนิดได้เป็นอย่างดี
กระจุกตลาด ตลาดส่งออกผลไม้ของไทยกระจุกตัวอยู่เพียง 2 แห่ง คือ ตลาดจีนและตลาดเวียดนาม (ส่วนใหญ่เป็นทางผ่านไปสู่ตลาดจีน) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้ไปจีนได้อานิสงส์ค่อนข้างมากจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทยเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2560 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 9.8 ล้านคน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชาวจีนรู้จักผลไม้ไทยมากขึ้น โดย EFC จะเป็นช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดส่งออกผลไม้ไทยให้กระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ที่เข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก อาทิ รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอาเซียน
กระจุกปริมาณ การส่งออกผลไม้ของไทยกระจุกหรือขยายตัวด้านปริมาณเป็นหลัก สังเกตได้จากมูลค่าส่งออกผลไม้สดสำคัญ 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 26% ในช่วงปี 2557-2560 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นด้านปริมาณมากกว่าด้านราคา (ยกเว้นมังคุด) ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดอำนาจต่อรองด้านราคา เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรและผู้ส่งออกไทยมักมีการตกลงราคา ซื้อขายล่วงหน้ากับผู้ซื้อรายใหญ่ในรูปแบบการตกลงซื้อขายแบบยกสวน ทำให้อำนาจต่อรองตกอยู่ที่ผู้ซื้อ ขณะเดียวกันเกษตรกรบางส่วนอาจยอมขายผลผลิตแม้ราคาจะต่ำ เนื่องจากกลัวสินค้าเน่าเสีย อีกทั้งการขาดตลาดกลางในการซื้อขายผลไม้ที่จะช่วยลดอำนาจผู้ซื้อและเพิ่มอำนาจผู้ขายผ่านการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งการจัดตั้ง EFC โดยเฉพาะการสร้างคลังสินค้าห้องเย็น (Cold Storage) ขนาดใหญ่ และการจัดตั้งตลาดประมูลผลไม้ระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยผลักดันราคาผลไม้ไทยให้สูงขึ้นได้ นอกเหนือจากการส่งเสริมการแปรรูปหรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนต่างกำไรให้สูงขึ้น
จะเห็นได้ว่าหากโครงการ EFC สำเร็จเป็นรูปธรรมจะช่วยเสริมจุดแข็งและปิดจุดอ่อนการส่งออกผลไม้ไทย รวมทั้งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งปัจจุบันพึ่งพาการส่งออกข้าวและยางพารากว่า 50% เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกผลไม้ที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับอำนาจต่อรองราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกว่า 60% ของประเทศมีทางเลือกในการผลิตสินค้าเกษตรและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2561