เรื่องเล่าระหว่างทาง: เมืองรองใน สปป.ลาว...โอกาสที่ยังเปิดกว้างสำหรับ SMEs ไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 7, 2018 15:05 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมื่อกล่าวถึงเมืองต่างๆ ใน สปป.ลาว พบว่าแต่ละเมืองมีความแตกต่างกันตามเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ บางเมืองมีความโดดเด่นด้านโบราณสถานและวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ขณะที่หลายเมืองก็ปกคลุมไปด้วยผืนป่าสีเขียวและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ สปป.ลาว กลายเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างปรารถนาจะต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวของ สปป.ลาว เติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดของ Ministry of Information, Culture and Tourism (MICT) ของ สปป.ลาว ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นอีก 15% เป็น 4.9 ล้านคน หากกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ สปป.ลาว หลายคนก็คงจะนึกถึงเมืองมรดกโลกหลวงพระบางเป็นอันดับแรกๆ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจท่องเที่ยวในหลวงพระบางขยายตัวอย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากร้านอาหารและร้านกาแฟที่เปิดเรียงรายอยู่ในเมืองเพิ่มจำนวนเกือบเท่าตัวภายในเวลาเพียง 2 ปี จาก 289 แห่งในปี 2558 เป็น 457 แห่งในปี 2559 ขณะที่อัตราการเข้าพักในแขวงหลวงพระบางยังทำสถิติสูงสุดใน สปป. ลาว ที่ 75% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนโรงแรม (ไม่รวม Guest House) กลับลดลงเหลือเพียง 49 แห่งในปี 2559 จาก 61 แห่งในปี 2558 ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าธุรกิจโรงแรมในหลวงพระบางอาจใกล้ถึงจุดอิ่มตัว หรือเผชิญภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น เรื่องเล่าระหว่างทางฉบับนี้จึงได้ออกสำรวจเมืองรองอื่นๆ ของ สปป.ลาว ที่มีศักยภาพไม่แพ้เมืองหลวงพระบางหรือแม้แต่นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้มองเห็นลู่ทางการเข้าไปทำธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องในเมืองรองที่ยังเปิดรับการลงทุนอีกมาก

สะหวันนะเขต…สวรรค์ของร้านอาหารและเบเกอรี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะหวันนะเขตเป็น 1 ใน 3 แขวง (สะหวันนะเขต คำม่วน และบอลิคำไซ) ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากที่สุดใน สปป.ลาว และเป็นแขวงที่มีนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 (รองจากนครหลวงเวียงจันทน์) ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 866,630 คนในปี 2559 สูงกว่าหลวงพระบางที่มีนักท่องเที่ยว 643,319 คน โดยเมืองสำคัญในแขวงนี้ คือ เมืองสะหวันนะเขต (ชื่อเดียวกับชื่อแขวง) ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุอิงฮัง พระธาตุเก่าแก่ที่ชาวลาวนับถือกันมากและเล่ากันว่าเป็นองค์แฝดกับพระธาตุพนมของไทย อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทำให้ได้ทราบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในแขวงสะหวันนะเขตที่ค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยังแขวงอื่นๆ จึงอยู่พักแรมไม่นาน ขณะที่บางส่วนก็นิยมเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ ดังนั้น ธุรกิจที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบ One Day Trip ได้ดี คือ ร้านอาหาร ร้านกาแฟและเบเกอรี สอดคล้องกับสถิติร้านอาหารในสะหวันนะเขตปี 2559 เพิ่มจำนวนมากกว่า 100% ภายใน 1 ปี เป็น 143 แห่งจาก 71 แห่งในปี 2558 และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าหลวงพระบางราว 30% แต่ยังมีร้านอาหารน้อยกว่าหลวงพระบางถึง 3 เท่า นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ร้านอาหารและร้านกาแฟส่วนใหญ่นิยมตกแต่งร้านสไตล์โบราณ (Antique) ให้เข้ากับบรรยากาศ Slow Life ของเมือง นอกจากนี้ บางร้านยังมีบริการให้เช่าจักรยาน จักรยานยนต์ และที่พักแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจโรงแรมนับว่ายังมีโอกาสไม่มากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่นิยมค้างแรมหลายวัน สะท้อนจากอัตราเข้าพักโรงแรมในสะหวันนะเขตที่มีเพียง 53% ธุรกิจโรงแรมจึงอาจยังไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมมากนักสำหรับสะหวันนะเขตในปัจจุบัน

จำปาสัก...ศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยวแห่งลาวใต้

ในบรรดาแขวงทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ต้องยกให้จำปาสัก เป็นแขวงที่มีศักยภาพทางธุรกิจมากที่สุด ด้วยจำนวนประชากรในพื้นที่กว่า 690,000 คน อีกทั้งยังมีพื้นที่ติดกับไทย กัมพูชา และสามารถเชื่อมต่อไปยังเวียดนามได้อีกด้วย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในแขวงจำปาสักค่อนข้างคึกคัก ขณะเดียวกันจำปาสักยังมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนไม่ขาดสาย ไม่เพียงแต่ปราสาทหินวัดพู มรดกโลกชื่อดังของ สปป.ลาว แต่ยังมีน้ำตกที่สวยงามอีกหลายแห่ง อาทิ น้ำตกหลี่ผี และน้ำตกคอนพะเพ็งที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Niagara of Asia จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในจำปาสักมักเป็นชาวต่างชาติสะพายเป้เที่ยว (Backpacker) ซึ่งโดยมากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่นิยมที่พักราคาสูง สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ Guest House ในแขวงจำปาสักที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่า 35% ภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักโดยรวมถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่ 45% สะท้อนได้ว่านักท่องเที่ยวส่วนมากอาจไม่อยู่พักแรมหลายคืน ทั้งนี้ ธุรกิจที่ยังเปิดกว้างและมีแนวโน้มความต้องการสูงจนมิอาจละสายตาได้ คือ ธุรกิจร้านอาหาร โดยข้อมูลจาก MICT ปี 2559 ระบุว่าในแขวงจำปาสักมีร้านอาหารเพียง 40 แห่ง ซึ่งนับว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนรวมกันราว 1.3 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ สังเกตได้ว่าร้านอาหารในจำปาสักที่ได้รับการแนะนำแบบปากต่อปากมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง แต่มักเป็นร้านที่มีรายการอาหารหลากหลายทั้งอาหารท้องถิ่นและอาหารนานาชาติประกอบกับบรรยากาศดีๆ ริมฝั่งโขงก็นับเป็นหนึ่งจุดขายที่ลูกค้าติดใจจนต้องบอกต่อ

ในวันที่กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ต่างเข้าไปจับปลาตัวใหญ่ในเมืองหลักของ สปป.ลาว ผู้ประกอบการ SMEs อาจมองหาลู่ทางการทำธุรกิจในเมืองรองแทน แม้ปลาในแม่น้ำอาจตัวเล็กกว่าแต่จำนวนคนจับปลาที่น้อยกว่าก็ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตได้ไม่แพ้ในเมืองใหญ่เลย

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ