เมื่อพูดถึงทวีปแอฟริกา หลายคนมักมีคำถาม ข้อสงสัย หรือความกังวลใจหลายๆ อย่างเกิดขึ้น อาทิ ผู้คนอดอยาก บ้านเมืองเสื่อมโทรม และภูมิอากาศที่ดูแห้งแล้ง อย่างไรก็ตาม จากการเดินทางภาคสนามร่วมกับคณะของหน่วยงานส่งเสริมการค้าการลงทุนของไทยไปเยือน “เอธิโอเปีย” พบว่า เอธิโอเปียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจและจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการไทย
เอธิโอเปียเป็นประเทศที่อยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา การเดินทางจากไทยโดยเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 8-9 ชั่วโมง (บินตรง) เมื่อเดินทางถึงกรุงแอดดิส อาบาบา ก็ได้พบสิ่งประหลาดใจเรื่องที่ 1 คือ อุณหภูมิค่อนข้างเย็นราว 15-20 องศาเซลเซียสทั้งที่ยังอยู่ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งยังไม่ใช่ฤดูหนาว ขัดกับความเข้าใจที่หลายคนมักคิดว่าเอธิโอเปียน่าจะมีภูมิอากาศร้อนแห้งแล้งที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ากรุงแอดดิสฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 2,300 เมตร ทำให้ภูมิอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี สมกับชื่อแอดดิส อาบาบา ที่แปลว่าดอกไม้ใหม่
หลังจากนั้นได้เข้าพบหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานส่งเสริมการค้าการลงทุนของเอธิโอเปียหลายแห่ง อาทิ Ethiopian Investment Commission, Ethiopia Chamber of Commerce and Sectoral Association, Industrial Parks Development Corporation และ Development Bank of Ethiopia ทำให้ได้รับทราบข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับพัฒนาการและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจตลอดจนนโยบายภาครัฐเพื่อยกระดับประเทศสู่ประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2568 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสร้างความประหลาดใจเรื่องที่ 2 คือ เอธิโอเปียมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็น อันดับ 8 ของทวีปแอฟริกา หรือเป็นอันดับ 5 หากคิดเฉพาะในกลุ่ม Sub-Saharan (มีจำนวน 45 ประเทศในทวีปแอฟริกา ไม่รวมแอฟริกาตอนเหนือ) ขณะที่เป็นประเทศที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สูงสุดเป็นอันดับ 5 ของทวีปแอฟริกา หรืออันดับ 4 ของ Sub-Saharan สะท้อนให้เห็นความน่าสนใจและความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่ยกให้เอธิโอเปียเป็นหนึ่งในแหล่งลงทุนแห่งใหม่ของทวีปแอฟริกา
ในส่วนของสินค้าส่งออกสำคัญของเอธิโอเปีย ก็สร้างความประหลาดใจเป็นเรื่องที่ 3 คือ ไม้ตัดดอก เป็นสินค้าส่งออกสำคัญลำดับต้นๆ ของเอธิโอเปีย โดยส่งออกไปยังเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นตลาดดอกไม้สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเอธิโอเปียเป็นผู้ส่งออกไม้ตัดดอกรายใหญ่อันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา รองจากเคนยา ขัดกับภาพลักษณ์ที่หลายคนมักเข้าใจว่า เอธิโอเปียน่าจะแห้งแล้งไม่สามารถปลูกพืชพันธุ์อะไรได้มากนัก โดยเฉพาะดอกไม้ที่ต้องการภูมิอากาศที่ค่อนข้างเย็น
อีกข้อมูลหนึ่งที่ได้ทราบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสร้างความประหลาดใจเป็นเรื่องที่ 4 คือ เอธิโอเปียมีต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกที่สุดในทวีปแอฟริกาเพียง 0.03 ดอลลาร์สหรัฐ/kWh เนื่องจากไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตมาจากเขื่อนบนแม่น้ำหลายสาย ทำให้มีต้นทุนค่อนข้างถูก ซึ่งขัดกับความเข้าใจเดิมๆ ที่คิดว่าเอธิโอเปียมีภูมิประเทศที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ปัจจุบันเอธิโอเปียอยู่ระหว่างก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา มีกำลังการผลิตถึง 6,450 MW อยู่บนแม่น้ำ Blue Nile
สิ่งประหลาดใจเรื่องที่ 5 คือ เอธิโอเปียเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ African Union (AU) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ 55 ประเทศในทวีปแอฟริกา เอธิโอเปียจึงถูกขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงของทวีปแอฟริกา ทั้งที่เอธิโอเปียมีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านเพียง 5 ประเทศ อีกทั้งไม่ได้อยู่กึ่งกลางของทวีป แต่อยู่ด้านตะวันออก (หลายท่านอาจเข้าใจผิดและคิดว่าประเทศแอฟริกาใต้ที่มีระดับการพัฒนาและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของทวีปแอฟริกา น่าจะเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ AU) สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของเอธิโอเปียในทวีปแอฟริกา ตลอดจนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง
ข้อมูลทั้งหลายข้างต้นช่วยลบภาพลักษณ์เก่าๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของเอธิโอเปียในปัจจุบันออกไป และทำให้พบว่าเอธิโอเปียเป็นอีกประตูหนึ่งในการเข้าสู่ทวีปแอฟริกาของผู้ประกอบการไทย โดยโอกาสของธุรกิจไทยน่าจะเริ่มจากการส่งออกก่อนซึ่งเอธิโอเปียยังมีความต้องการที่หลากหลาย เนื่องจากประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาหลายด้าน จึงเป็นโอกาสของทั้งสินค้าทุนและวัตถุดิบโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าต้นน้ำและกลางน้ำของสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปและพลาสติกที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รวมถึงกลุ่มสินค้าเครื่องมือ/อุปกรณ์การเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เนื่องจากเอธิโอเปียมีศักยภาพด้านการเกษตรแต่ยังขาดแคลนเครื่องมือที่ทันสมัย ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคก็เป็นที่ต้องการตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ในระยะถัดไปการขายแฟรนไชส์ธุรกิจก็อาจเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดหรือกึ่งฟาสต์ฟู้ด ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารในลักษณะดังกล่าวยังมีอยู่ค่อนข้างน้อยในกรุงแอดดิสฯ
ขณะที่ข้อพึงระวังในการทำธุรกิจในเอธิโอเปีย อาทิ ต้นทุนขนส่งค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นประเทศ Land Lock จึงต้องใช้ท่าเรือจิบูตีแทน รวมถึงการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะจากสินค้าจีน ตลอดจนฐานข้อมูลต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจยังไม่เป็นระบบและไม่อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากนัก ดังนั้น นอกเหนือจากการรับข้อมูลข่าวสารจากในไทยแล้ว ผู้ประกอบการอาจต้องเดินทางลงพื้นที่จริงเพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อมและข้อมูลเชิงลึกที่ไม่สามารถค้นหาได้จากแหล่งต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงสามารถประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจดำเนินธุรกิจ
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2561--