ประเด็นร้อนที่ถูกกล่าวถึงและสร้างความปั่นป่วนให้บรรยากาศการค้าการลงทุนทั่วโลกมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2561 คงหนีไม่พ้น “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ กับหลายประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ปรับในการช่วงชิงการเป็นเบอร์หนึ่งด้านเศรษฐกิจของโลก และยังเป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุด ล่าสุดในปี 2560 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้ากับจีน 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาถือเป็นวันที่สหรัฐฯ กับจีนลั่นกลองรบอย่างเป็นทางการกันอีกครั้งผ่านการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่ารวมกันราว 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะถัดไป
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้แก่ภาคธุรกิจทั่วโลก เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนถือเป็นผู้ซื้อและผู้ขายสินค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้หลายฝ่ายต้องการให้ทั้งสองประเทศหาทางออกร่วมกันอย่างสันติเพื่อลดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐฯ พบว่าสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาจีนอยู่หลายด้าน อาจด้วยเพราะสหรัฐฯ เป็นสังคมการบริโภคแบบเต็มขั้น สะท้อนได้จากสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนต่อ GDP ที่ 70% สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจทั้งหมด ทำให้สหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาผู้ประกอบการสหรัฐฯ เองก็ได้กระจายห่วงโซ่อุปทานบางขั้นตอนไปผลิตในจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาจีนในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกลต่างๆ ปัจจัยดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ จะยังขาดดุลการค้ากับจีนในระดับสูงและเป็นปัจจัยกดดันให้สหรัฐฯ ยังคงต้องทำสงครามการค้าสินค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มีคำถามจากประชาคมโลกว่า แล้วจะมีวิธีใดบ้างที่อาจช่วยลดแรงปะทะไม่ให้เกิดสงครามการค้ารุนแรงได้ หนึ่งในคำตอบที่เริ่มมีการพูดถึงคือ “การค้าบริการ” ทั้งนี้ การค้าบริการถือเป็นภาคส่วนที่สหรัฐฯ มีแต้มต่อและมีศักยภาพเหนือกว่าจีนอยู่หลายช่วงตัว สังเกตได้จากดุลบริการ โดยจีนเป็นประเทศที่สหรัฐฯ เกินดุลบริการมากที่สุด ล่าสุดในปี 2560 สหรัฐฯ เกินดุลบริการกับจีนกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดพบว่าบริการที่สหรัฐฯ เกินดุลกับจีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การท่องเที่ยว (รวมบริการด้านการศึกษา) ทรัพย์สินทางปัญญา และการเงิน ตามลำดับ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่คิดเป็นกว่า 70% ของมูลค่าเกินดุลรวม ซึ่งมีส่วนประกอบหลักมาจากบริการด้านการศึกษาเกือบ 50% ของการเกินดุลในภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด ปัจจุบันนักศึกษาจีนถือเป็นนักศึกษาต่างชาติอันดับหนึ่งในสหรัฐฯ หรือคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 20% ต่อปีตลอด 10 ปีที่ผ่านมาทำให้การศึกษาถือเป็นภาคบริการที่สหรัฐฯ สามารถกอบโกยรายได้จากจีนอย่างเป็นกอบเป็นกำมากที่สุด นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความเข้มแข็งอย่างมากในการเป็นเจ้าของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและการเงิน สะท้อนได้จากการจัดอันดับล่าสุดของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง PricewaterhouseCoopers (PwC) พบว่าบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก 100 อันดับแรก เป็นบริษัทของสหรัฐฯ มากถึง 54 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและการเงินแทบทั้งสิ้น เทียบกับจีนซึ่งมีเพียง 12 บริษัทเท่านั้น
ปัจจัยนี้เองสะท้อนจุดแข็งในภาคบริการของสหรัฐฯ ที่ยังเหนือกว่าจีน แม้ว่าในระยะสั้นมูลค่าการเกินดุลบริการของสหรัฐฯ กับจีนจะยังมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขาดดุลการค้าสินค้า แต่หากดูอัตราขยายตัวของการเกินดุลบริการของสหรัฐฯ กับจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าขยายตัวเฉลี่ยถึง 15% ต่อปี สูงกว่าการขาดดุลการค้าสินค้าที่ขยายตัวไม่ถึง 4% ต่อปีค่อนข้างมาก ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงศักยภาพในการเติบโตของการค้าบริการของสหรัฐฯ ในอนาคต ซึ่งหากจีนนำประเด็นดังกล่าวมาใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยนผ่านการเปิดเสรีการค้าบริการแก่สหรัฐฯ มากขึ้น อาจช่วยให้ดีกรีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปัจจุบันบรรเทาความร้อนแรงลงได้
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2561