- 1 ใน 3 ของ GDP เคนยา มาจากธุรกิจค้าปลีก และในจำนวนนั้นราว 30% เป็นค้าปลีกสมัยใหม่ ที่เหลืออีก 70% เป็น Dukas หรือร้านแผงลอย ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตามการเติบโตของสังคมเมือง
- ห้างค้าปลีกท้องถิ่นรายใหญ่ในเคนยามี 4 ราย ได้แก่ Tuskys, Naivas, Nakumutt และ Uchumi ขณะที่ห้างค้าปลีกต่างชาติเริ่มเข้ามาบ้างแล้ว อาทิ Carrefour และ Game (เครือ Walmart) โดยสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่ห้างฯ เป็นผู้นำเข้าเอง
- ผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อ (Buyer) ชาวเคนยา โดยเฉพาะกลุ่มอาหารนิยมไปหาคู่ค้าและเจรจาธุรกิจผ่านงาน Trade Fair โดยเฉพาะ Gulf Food Show ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- ทวีป : แอฟริกา (บริเวณตะวันออก)
- เมืองสำคัญ : กรุงไนโรบี (เมืองหลวง) เมืองมอมบาซา (ท่าเรืออันดับ 5 ของแอฟริกา)
- พื้นที่ : 569,259 ตร.กม. (ขนาดใกล้เคียงกับไทย)
- ประชากร : 46.8 ล้านคน
- ภาษาราชการ : อังกฤษ, สวาฮีลี
- สกุลเงิน : ชิลลิงเคนยา (KES) 1 USD = 100 KES
- ระบอบการปกครอง : ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
- GDP : 85,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- มูลค่านำเข้ารวม : 16,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- มูลค่าส่งออกไทย-เคนยา : 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สินค้าส่งออกสำคัญไทย-เคนยา : ข้าว น้ำตาลทราย รถยนต์และส่วนประกอบ
- สถานเอกอัครราชทูตและสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย : มี
เคนยาเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยที่สนใจจะขยายตลาดไปภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ด้วยจุดเด่นหลายประการ อาทิ เศรษฐกิจโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 6% (เทียบกับ 3.6% ของทวีปแอฟริกาไม่รวมตอนเหนือ) ระบบโลจิสติกส์ดีที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก รวมถึงมีสถานเอกอัครราชทูตและสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่สามารถเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ หนึ่งในช่องทางสำคัญในการกระจายสินค้าไทยในเคนยา คือ ตลาดค้าปลีก บทความฉบับนี้จึงนำท่านผู้อ่านไปรู้จักตลาดค้าปลีกเคนยาให้มากขึ้น เพื่อหาช่องทางและโอกาสในการเจาะตลาดเคนยาต่อไป
มูลค่าตลาดค้าปลีกสูงถึง 30% ของ GDP และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
ตลาดค้าปลีกของเคนยาเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% จากปี 2557 มีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2562 คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP รวม ภายใต้แรงหนุนของเศรษฐกิจเคนยาที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกว่า 60%ของมูลค่าตลาดค้าปลีกเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร นอกจากนี้ หากแบ่งตามรูปแบบธุรกิจ พบว่า 30% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกเป็นกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น Hypermarket, Supermarket ร้านสะดวกซื้อ ที่เหลืออีก 70% เป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมและแผงลอย หรือที่เรียกว่า “Dukas” ทั้งนี้ ภายใต้การขยายตัวของสังคมเมืองจากปัจจุบันมีประชากรที่อาศัยในเขตเมืองเกือบ 30% ของประชากรรวม และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 40% ภายในปี 2583 ส่งผลให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่เกิดมากขึ้น เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การบริโภคยุคใหม่
4 ห้างใหญ่...ผู้เล่นสำคัญของตลาดค้าปลีก มีสาขากระจายทั่วประเทศ
ตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอยู่ที่กรุงไนโรบี เมืองหลวงของประเทศ มีประชากรราว 3.5 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชั้นกลางส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ รองลงมา คือ เมืองมอมบาซา เมืองท่าสำคัญของประเทศ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทำให้ชาวเมืองนี้มีกำลังซื้อไม่แพ้กรุงไนโรบี ส่วนเมืองรองอื่นๆ ได้แก่ Kisumu, Nakuru และ Eldoret ทั้งนี้ ผู้บริโภคชั้นกลางในเมืองข้างต้นมักจับจ่ายใช้สอยที่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่เป็นหลัก โดยมีผู้ให้บริการรายใหญ่ 4 ราย ได้แก่ Tuskys, Naivas, Nakumutt และ Uchumiซึ่งล้วนเป็นธุรกิจของชาวเคนยา นอกจากนี้ เริ่มมีห้างค้าปลีกต่างชาติเข้ามาดำเนินการบ้างแล้ว อาทิ Carrefour และ Game (เครือ Walmart) ซึ่งสินค้าในห้างค้าปลีกดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มอาหารส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า ซึ่งห้างค้าปลีกนำเข้าเองโดยตรงและบางส่วนซื้อต่อจากผู้นำเข้าหรือ Buyer รายใหญ่อีกทอดหนึ่ง
- ส่งออกไทยที่สนใจตลาดเคนยาควรไปร่วมงาน Trade Fair ในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะงาน Gulf Food Show รวมถึงงาน Trade Fair ในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจาก Buyer ชาวเคนยานิยมไปเลือกสินค้านำเข้าจากงานดังกล่าว
- การเริ่มต้นทำธุรกิจกับคู่ค้าที่เป็นกลุ่มห้างค้าปลีกรายใหญ่หรือ Buyer ของห้างฯ อาจเป็นช่องทางที่ดีในการเจาะตลาดเคนยา รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงทางการค้า เนื่องจากห้างฯ ดังกล่าวเป็นที่รู้จัก เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ และมียอดจำหน่ายต่อปีสูง
- เคนยาเป็นประตูสำคัญในการกระจายสินค้าสู่ทวีปแอฟริกาตอนกลาง อาทิ รวันดา ยูกันด้า ซูดานใต้ คองโก ดังนั้น การมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ Buyer ชาวเคนยา จะเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทยสู่แอฟริกาตอนกลางด้วย
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2561