ระบบธนาคารของ สปป.ลาว ในปัจจุบันถือว่ามีการพัฒนาและเติบโตขึ้นมาก เนื่องจากรัฐบาล สปป.ลาว เร่งปฏิรูปและปรับโครงสร้างระบบธนาคารอย่างจริงจังเพื่อยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าสากล ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาขนาดสินทรัพย์ ปริมาณเงินฝาก และยอดสินเชื่อในระบบธนาคารของ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่างชาติก็เข้ามาขยายการลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น จนปัจจุบัน สปป.ลาว มีธนาคารพาณิชย์ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารเฉพาะกิจ ธนาคารพาณิชย์เอกชนธนาคารพาณิชย์ร่วมทุน ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างชาติ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ รวม 42 แห่ง และมีสำนักงานตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติอีก 1 แห่ง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารใน สปป.ลาว ยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก สังเกตได้จากมูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคารทั้งหมดที่มีอยู่ราว 465 พันล้านบาท คิดเป็นไม่ถึง 2% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคารทั้งหมดในไทย
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ของไทยที่ทำการค้ากับ สปป.ลาว และใช้บริการทางการเงินระหว่างประเทศผ่านระบบธนาคารในไทยกับธนาคารใน สปป.ลาว ยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากการทำธุรกรรมส่วนใหญ่มีมูลค่าไม่สูงนัก และผู้ประกอบการมักใช้ระบบโพยก๊วน หรือเดินทางข้ามแดนไปหาคู่ค้าเพื่อชำระเงินค่าสินค้าด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารยังมีความสำคัญต่อกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกรรมทางการเงินที่มีมูลค่าสูงและธุรกรรมที่เป็นทางการ หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดบัญชีธนาคารใน สปป.ลาว เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมกับคู่ค้าชาวลาว นอกจากนี้ ระบบธนาคารยังช่วยผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการทำการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจกับชาวลาวจึงควรทำความรู้จักธนาคารใน สปป.ลาวโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ของรัฐทั้ง 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao : BCEL) ธนาคารพัฒนาลาว (Lao Development Bank : LDB) และธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (Agricultural Promotion Bank : APB) รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจอีก 1 แห่ง คือ ธนาคารนโยบาย (Nayoby Bank) ซึ่งธนาคารทั้ง 4 แห่งนี้เป็นธนาคารที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของ สปป.ลาว อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด โดยมีสัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์รวมกันกว่าร้อยละ 44 ของสินทรัพย์ภาคธนาคารทั้งหมด รวมถึงมียอดเงินฝากและยอดสินเชื่อมากที่สุดในระบบธนาคาร สปป.ลาว คิดเป็นสัดส่วนราว 57% และ 50% ตามลำดับ โดยรายละเอียดที่น่าสนใจของธนาคารทั้ง 4 แห่งมีดังนี้
- ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐเพียงแห่งเดียวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว โดยกระทรวงการคลังของ สปป.ลาว เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ทั้งนี้ BCEL เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว เมื่อวัดจากมูลค่าสินทรัพย์ และเป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร โดยเฉพาะบริการทางการเงินด้านการค้าระหว่างประเทศ อาทิ สินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้า การเปิด L/C การออกหนังสือค้ำประกันเพื่อการออกสินค้าการเรียกเก็บหรือชำระเงินค่าสินค้าตามตั๋วเรียกเก็บ และการโอนเงินระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน BCEL ยังเป็นผู้นำด้าน Internet Banking และแอพพลิเคชั่น Mobile Banking ใน สปป.ลาว รวมถึง QR Code Payment (ปัจจุบันการจ่ายเงินด้วย QR Code ใน สปป.ลาวยังจำกัดพื้นที่อยู่ในย่านใจกลางเมืองใหญ่เท่านั้น) นอกจากนี้ BCEL ยังมีสาขาและหน่วยบริการต่างๆ รวมกันกว่า 117 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจใน สปป.ลาว ส่วนใหญ่เลือกใช้บริการธนาคารแห่งนี้ โดยเฉพาะการเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อใช้ชำระเงินค่าสินค้าด้วยวิธีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารให้กับผู้ประกอบการชาวลาว
- ธนาคารพัฒนาลาว (LDB) เป็นธนาคารที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารล้านช้างและธนาคารลาวใหม่ในปี 2546 มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก รวมถึงให้บริการทางการเงินด้านการค้าระหว่างประเทศ เช่น การเปิด L/C และการโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ LDB มีสาขาและหน่วยให้บริการทั้งหมด 53 แห่งทั่วประเทศ และยังมีเครือข่าย Correspondent Bank กับอีกหลายประเทศ รวมถึงไทย
- ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (APB) เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นให้การสนับสนุนทางการเงินในภาคเกษตรกรรมและการพัฒนาพื้นที่ชนบท อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มเกษตรกร และสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม สำหรับบริการด้านการเงินระหว่างประเทศ APB มีเพียงบริการโอนเงินระหว่างประเทศเท่านั้น โดยมีเครือข่าย Correspondent Bank กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรของประเทศไทย
- ธนาคารนโยบาย (Nayoby Bank) เป็นธนาคารพาณิชย์เฉพาะกิจดำเนินงานโดยรัฐบาล สปป.ลาว ธนาคารนโยบายไม่มีบริการรับฝากเงินเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่มีหน้าที่ระดมทุนและให้กู้ยืมแก่ครัวเรือน เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจในเขตพื้นที่ชนบท รวมถึงโครงการของรัฐที่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศตามภารกิจหลักของรัฐบาล สปป.ลาว
แม้ว่า สปป.ลาว ยังมีธนาคารพาณิชย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชน หรือธนาคารพาณิชย์ร่วมทุน แต่ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งที่กล่าวมาข้างต้น นับว่าเป็นธนาคารที่มีความน่าเชื่อถือสูงและฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากเป็นธนาคารของรัฐบาล สปป.ลาว โดยตรง นอกจากนี้ ด้วยประสบการณ์ในการให้บริการทางการเงินเคียงคู่ชาวลาวมายาวนาน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเริ่มใช้บริการทางการเงินผ่านระบบธนาคารใน สปป.ลาว
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2561