หากจะกล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่ขยายตัวได้ร้อนแรงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ทุกสายตาคงจะจดจ้องไปที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจหลายรายการส่งสัญญาณบวกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวได้ถึง 4.1% (q-o-q) สูงสุดในรอบ 4 ปี เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานที่ปรับลดลงต่อเนื่องจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปีอยู่ที่ราว 4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2561 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี แตะเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 2% เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใสในปัจุบัน ก็ยังมีความเสี่ยงที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังครุกรุ่น ขณะเดียวกัน ก็มีข้อสังเกตเพิ่มเติมถึง “ความเสี่ยงแฝง” ที่อาจซ่อนตัวอยู่ในเศรษฐกิจสหรัฐฯ บางมิติ ดังนี้
ความเสี่ยงในตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรที่เริ่มเห็นความผิดปกติบางอย่าง สะท้อนได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 10 ปีที่ในช่วงเวลาปกติมักจะสูงกว่า Bond Yield อายุ 2 ปีราว 1.5-2.0% เนื่องจากการนำเงินมาลงทุนในพันธบัตรระยะยาวจะมีความเสี่ยงและค่าเสียโอกาสมากกว่าก็ควรได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับพบว่า Bond Yield อายุ 2 ปีขยับขึ้นเร็วกว่า Bond Yield อายุ 10 ปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตลาดมีกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าความไม่แน่นอนของนโยบายอื่นๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่เร็วเกินไปที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น ทำให้ส่วนต่างระหว่าง Bond Yield 10 ปีและ 2 ปีแคบลงจนอยู่ที่ 0.3% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมาหากส่วนต่างดังกล่าวติดลบ (Bond Yield อายุ 2 ปีมากกว่า 10 ปี) หรือ Inverted Yield Curve จะเป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะแย่ลงในระยะถัดไป ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงก่อนวิกฤต Dot-Com และวิกฤต Hamburger ในปี 2543 และปี 2551 ตามลำดับ
ความเสี่ยงเชิงนโยบาย นอกจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของสหรัฐฯ จะสวนทางกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่นแล้ว นโยบายการเงินดังกล่าวยังสวนทางกับนโยบายการคลังของสหรัฐฯ เองอีกด้วย (Policy Divergence)สังเกตได้จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 35% เหลือ 21% และปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระดับสูงสุดจาก 39.6% เหลือ 37% เพื่อหวังกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ผลค่อนข้างดี สะท้อนได้จากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ปี 2561 ที่ขยายตัวราว 3% สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี อย่างไรก็ตาม หาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปก็อาจบั่นทอนประสิทธิภาพของนโยบายการคลังในระยะถัดไปจากต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้น
ความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง จากดุลการค้าและดุลงบประมาณที่ขาดดุลเรื้อรัง (Twin Deficits) โดยในปี 2560 ดุลการค้าสินค้าของสหรัฐฯ ขาดดุลกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งในช่วง5 เดือนแรกของปี 2561 ก็ยังขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวยากที่แก้ไขได้ในเร็ววัน เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่พึ่งพาการบริโภคเป็นหลัก ทำให้ยังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าหลายชนิดจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ยังมีส่วนกดดันขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าของสหรัฐฯ อีกด้วย ขณะที่ในส่วนของการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ทาง Economic Intelligence Units ก็คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 6.7% ในปี 2563 จาก 3.5% ในปี 2560 เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ กับเม็กซิโก และการปรับลดภาษีดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจไม่ได้เกิดจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง สังเกตได้จากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) ล่าสุดที่ 62.9% ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยจากเมื่อ 40 ปีก่อน ตัวเลขดังกล่าวนี้ มีนัยว่าอัตราการว่างงานที่ลดลงส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานบางส่วนตัดสินใจออกจากตลาดแรงงาน เนื่องจากไม่สามารถหางานทำได้เป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากการที่แรงงานรุ่นใหม่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ แต่ทำงานอิสระมากขึ้น
ความเสี่ยงแฝงข้างต้นไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในเร็วๆ นี้ แต่เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังและหันมาให้ความสำคัญกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ นอกเหนือจากที่สื่อนิยมรายงานอาทิ GDP อัตราเงินเฟ้อ อัตราว่างงาน เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ประเมินโอกาสและความเสี่ยงในการทำธุรกิจกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 และเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 4 ของไทยในต่างประเทศได้ดีขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2561