- ในปี 2560 ตลาดค้าปลีกในเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 129 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวครึ่งหนึ่งของ GDP เวียดนาม
- กลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทยติด 1 ใน 5 ผู้เล่นหลักในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ของเวียดนาม
- มูลค่าส่งออกกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปเวียดนามขยายตัวสูงถึง Double Digits ในปี 2560
เมืองสำคัญ : กรุงฮานอย (เมืองหลวง) นครโฮจิมินห์ (ศูนย์กลางเศรษฐกิจ)
พื้นที่ : 331,690 ตร.กม.
ประชากร : 95 ล้านคน
ภาษาราชการ : เวียดนาม
สกุลเงิน : ด่อง (VND) 1 USD = 22,600 VND (ณ ก.ค. 61)
ระบอบการปกครอง : สังคมนิยม (Communist State) มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญปี 2560
- GDP : 241 Bil.USD
- มูลค่านำเข้ารวม : 235,929 Mil.USD
- มูลค่าส่งออกไทย-เวียดนาม : 11,586 Mil.USD
- สินค้าส่งออกสำคัญไทย-เวียดนาม : น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้สด รถยนต์/ส่วนประกอบ
สถานเอกอัครราชทูตและสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย : มี
ตลาดค้าปลีกของเวียดนามขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% นับตั้งแต่เวียดนามเปิดเสรีให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ในปี 2558 เป็นต้นมา ล่าสุดตลาดค้าปลีกปี 2560 มีมูลค่าราว 129 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 50% ของ GDP และคาดว่าจะสูงแตะระดับ 179 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 โดยเฉพาะยอดขายของร้านสะดวกซื้อของเวียดนามที่คาดว่าจะเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนเฉลี่ยถึง 37.4% ต่อปี (ไทย 6.6%) ในช่วงปี 2560-2564
แม้ปัจจุบันราว 75% ของตลาดค้าปลีกเวียดนามยังเป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม แต่พฤติกรรมการบริโภคและไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ของกลุ่ม Middle Class รวมถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง (Urbanization) เป็นปัจจัยเร่งให้ร้านค้าปลีก Modern Trade ของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 45% ของช่องทางค้าปลีกทั้งหมดในเวียดนามภายในปี 2563
ร้านค้าปลีก Modern Trade ของเวียดนามในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ร้านค้าของรัฐ ร้านค้าท้องถิ่นของเอกชน และร้านค้าของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงไทย โดยกลุ่มนักลงทุนไทยนับเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของตลาดค้าปลีก Modern Trade ของเวียดนาม
สินค้าไทยได้รับความนิยมในตลาดเวียดนามอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีหลายสินค้าที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูงถึง 2 หลักในปี 2560 อาทิ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสิ่งปรุงรส เป็นต้น ขณะเดียวกันกลุ่มสินค้าศักยภาพของไทยที่มีแนวโน้มขายดีในระยะถัดไป ได้แก่ สินค้ากลุ่มแฟชั่น/ไลฟ์สไตล์ หรือ Fast Moving Consumer Goods อาทิ เครื่องประดับ และเสื้อผ้าสตรี เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของชาวเวียดนามยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Middle Class ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนต่อปี (จาก 12 ล้านคนในปี 2557)
เครือข่ายร้านค้าปลีก Modern Trade จะเป็นช่องทางสำคัญในการกระจายสินค้าไทยในตลาดเวียดนามซึ่งไม่เพียงเฉพาะร้านค้าปลีกของไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงร้านค้าปลีกอื่นๆ ในเวียดนามด้วย เนื่องจากสินค้าไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดเวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าที่ระบุว่า “Made in Thailand” ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานและคุณภาพดี ส่งผลให้มีสินค้าไทย วางขายทั้งในร้านค้าปลีกท้องถิ่นและร้านค้าปลีกต่างชาติ อาทิ Lotte
ผู้ส่งออกไทยที่จะเจาะตลาดเวียดนามควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าไทยหรือ Top Thai Brands ที่จัดเป็นประจำทุกปีทั้งในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ เพื่อพบปะและเจรจากับ ผู้ซื้อรายสำคัญในตลาดเวียดนาม นอกจากนี้ งานแสดงสินค้าอีกงานหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Vietnam Expo ซึ่งเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีผู้ประกอบการจากหลายธุรกิจเข้าร่วมงาน อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2561