Share โลกเศรษฐกิจ: จับตาสงครามการค้าสหรัฐ-ญี่ปุ่น: วิกฤตหรือโอกาสของไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 28, 2018 16:19 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้เปิดเผยบทสัมภาษณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาพูดถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจเปิดฉากสงครามการค้ากับญี่ปุ่น ก็ได้จุดกระแสความวิตกกังวลเป็นวงกว้าง เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกที่มีการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับญี่ปุ่นจริง อาจส่งผลกระทบต่อหลายๆ ประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของญี่ปุ่นรวมถึงไทย

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่สหรัฐฯ จะเปิดฉากสงครามการค้ากับญี่ปุ่น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยพุ่งเป้าไปที่ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาก โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก ซึ่งทั้งจีนและเม็กซิโก หรือแม้แต่เยอรมนีที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับ 4 ตามหลังญี่ปุ่น ก็ล้วนแล้วแต่ถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า เป้าหมายต่อไปของสหรัฐฯ น่าจะพุ่งมาที่ญี่ปุ่นตามที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ไว้

ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็น 3 สินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นที่อาจตกเป็นเป้าโจมตีของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกที่ญี่ปุ่นเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด 3 อันดับแรก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดรถยนต์ที่ญี่ปุ่นเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากถึงราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 72% ของการเกินดุลการค้าของญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่า หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าในกลุ่มรถยนต์จากญี่ปุ่นก็อาจส่งผลกระทบต่อไทยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นสู่โอกาสในการย้ายฐานการผลิตระลอกใหม่มายังไทย นับตั้งแต่สนธิสัญญา Plaza Accord ในปี 2528 ที่ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น ผู้ประกอบการรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นต่างมุ่งดำเนินนโยบายย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานักลงทุนญี่ปุ่นออกไปลงทุนคิดเป็นมูลค่าสะสมราว 4.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับญี่ปุ่นก็อาจก่อให้เกิดวิกฤตในภาคส่งออกของญี่ปุ่นครั้งใหม่ เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นส่งออกไปสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนสูงถึง 20% ของมูลค่าส่งออกรวมของญี่ปุ่น เมื่อประกอบกับปัญหาเงินเยนแข็งค่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจากการที่เงินเยน ถือเป็น Save Haven สวนทางกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลกที่มีทิศทางอ่อนค่าลงถ้วนหน้าตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่นๆ อีกระลอกรวมถึงไทย เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 5 ของนักลงทุนญี่ปุ่น ตามหลังสหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทุกประเทศข้างต้นล้วนกำลังพัวพันกับสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แทบทั้งสิ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้อานิสงส์จากการย้ายฐานดังกล่าว

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าในท้ายที่สุดสหรัฐฯ จะเริ่มต้นสงครามการค้ากับญี่ปุ่นเมื่อใดและมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด แต่แน่นอนว่าสงครามการค้าที่กำลังบานปลายในปัจจุบันย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงที่มีมากขึ้นสำหรับผู้ส่งออกไทย ทั้งความเสี่ยงด้านการค้า รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้น การใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป จึงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับการค้าในโลกยุคปัจจุบัน

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ