ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมียนมาถือเป็นหนึ่งในประเทศเนื้อหอมที่นักธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจเข้าไปทำการค้าและลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมาเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในหลายมิติ
เริ่มด้วยเรื่องใกล้ตัวในด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งที่ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก โดยทุกวันนี้วิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวในเมียนมาไม่ต่างจากไทยมากนัก มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคไปตามยุคสมัย ที่เห็นได้ชัด คือ ความนิยมนั่งร้านกาแฟสมัยใหม่ จากเดิมที่เป็นร้านชากาแฟแบบดั้งเดิมที่เป็นโต๊ะและเก้าอี้ไม้แบบเตี้ยๆ ทั้งนี้ ร้านกาแฟสมัยใหม่ถือเป็นเทรนด์ในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งแฟรนไชส์ร้านกาแฟรายใหญ่ของไทยอย่าง Caf? Amazon ก็เข้าไปขยายธุรกิจในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากพฤติกรรมการบริโภคแล้ว การแต่งกายของคนหนุ่มสาวในเมียนมาในปัจจุบันยังเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิมที่ผู้ชายสวมผ้าโสร่งและผู้หญิงสวมผ้านุ่งเริ่มเห็นน้อยลงตามเมืองใหญ่ หลังจากวัฒนธรรมที่เป็นสากลเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวเมียนมามากขึ้น ทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมใส่กางเกงยีนส์ ตลอดจนความนิยมใช้เครื่องสำอางจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ซึ่งเป็นไปตามกระแส K-pop ที่เข้ามาแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นชาวเมียนมา ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ผู้หญิงชาวเมียนมามักทาแก้มและใบหน้าด้วยแป้งผสมน้ำหรือที่เรียกว่าทานาคามีให้เห็นได้น้อยลงเช่นกัน
ขณะที่ในมิติของเศรษฐกิจ ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือการอ่อนค่าของเงินจ๊าตของเมียนมา โดยปัจจุบันเงินจ๊าตอ่อนค่าถึงราว 14% เมื่อเทียบกับต้นปี 2561 ซึ่งได้สร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปเมียนมา อย่างไรก็ตาม หากไปดูตัวเลขส่งออกของไทยไปเมียนมาล่าสุดยังไม่น่ากังวล เพราะมูลค่าส่งออกของไทยไปเมียนมาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ยังขยายตัวได้ราว 9% แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีสัญญาณที่ผู้นำเข้าในเมียนมาชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากไทยอยู่บ้างเพื่อรอดูทิศทางค่าเงินจ๊าตให้แน่ชัด ทั้งนี้แม้สถานการณ์เงินจ๊าตอ่อนค่าลงรุนแรงอาจกระทบกับการส่งสินค้าของไทยไปเมียนมา อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับกันสถานการณ์
ดังกล่าวอาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่จะปรับตัวและรุกเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในเมียนมามากขึ้น ประการแรก ผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกไปตลาดเมียนมาควรมองเป็นโอกาสในการรุกเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในเมียนมา เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าของชาวเมียนมายังคงมีศักยภาพตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้น การเข้าไปผลิตสินค้าในเมียนมาจะช่วยลดปัญหาความผันผวนของค่าเงินจ๊าตได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ประการที่สอง ผู้ผลิตสินค้าส่งออกของไทยที่ไม่ได้ส่งออกไปเมียนมาเป็นตลาดหลักก็มีโอกาสเข้าไปลงทุนใช้เมียนมาเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกด้วยเช่นกัน เนื่องจากเงินจ๊าตที่อ่อนค่าลงมากหมายถึงราคาสินค้าส่งออกจากเมียนมามีราคาถูกลงด้วย แต่ควรผลิตสินค้าที่หาวัตถุดิบส่วนใหญ่ได้ในเมียนมา ซึ่งเมื่อประกอบกับค่าแรงในเมียนมาที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV และต่ำกว่าไทย 3 เท่า ขณะที่เมียนมายังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการส่งออกไป 3 ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น จึงถือเป็นจังหวะดีที่ผู้ประกอบการอาจตัดสินใจเข้าไปลงทุนในเมียนมา แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเมียนมาชะลอตัวลงบ้าง แต่หากพิจารณาด้านปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้วเมียนมายังเป็นประเทศที่มีศักยภาพอีกมาก จึงเป็นที่คาดว่าในระยะข้างหน้ามุมมองที่ดีขึ้นของนักลงทุนต่างชาติต่อเศรษฐกิจเมียนมาจะทำให้ FDI กลับเข้ามา และจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวได้ในระดับสูงกว่า 7% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ หากเจาะลึกลงไปในแง่ของโอกาสของนักธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมา พบว่ามีหลายธุรกิจที่น่าสนใจ ดังนี้
ธุรกิจกลุ่มแรก คือธุรกิจที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงใช้ประโยชน์จากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวจากกำลังซื้อของชาวเมียนมาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป ธุรกิจแปรรูปเกษตรและอาหาร
ธุรกิจกลุ่มที่สอง คือ ธุรกิจพลังงาน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของเมียนมามีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากรแต่อัตราการเข้าถึงไฟฟ้ายังอยู่ในระดับต่ำที่สุดในอาเซียน ทำให้เมียนมามีความต้องการลงทุนด้านพลังงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นธุรกิจที่รัฐบาลเมียนมามีนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมให้เมียนมาเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนในธุรกิจโรงแรมในเมืองย่างกุ้งค่อนข้างอิ่มตัว แต่โอกาสขยายการลงทุนไปเมืองท่องเที่ยวสำคัญอื่นยังคงมีอยู่ อาทิ มัณฑะเลย์ พุกาม และพะโค รวมถึงเกาะต่างๆ ในพื้นที่ตอนใต้ของเมียนมา
ธุรกิจกลุ่มที่สามเป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการปรับปรุง/ผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ อาทิ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ซึ่งรัฐบาลเมียนมาเพิ่งอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100% ทำให้มีโอกาสลงทุนในธุรกิจห้างสรรพสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงห้างค้าปลีก/ค้าส่งอุปกรณ์ก่อสร้างและเครื่องใช้ไฟฟ้า
ธุรกิจสุดท้าย เป็นธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างมาก นั่นคือ ธุรกิจด้านการศึกษา เนื่องจากเมียนมาปิดประเทศมานาน ทำให้ระบบการศึกษาของประเทศต้องการการพัฒนาอีกมาก ปัจจุบันเมียนมาต้องการฟื้นฟูและปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนความรู้ความสามารถให้กับประชาชนชาวเมียนมา จึงเป็นโอกาสลงทุนในการจัดตั้งและดำเนินกิจการโรงเรียนเอกชนทั้งสายสามัญและสายเทคนิค/อาชีวะ ซึ่งปัจจุบันเมียนมายังขาดแคลนอยู่มาก
ทั้งนี้ แม้เมียนมาเผชิญปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะเงินจ๊าตที่อ่อนค่า แต่ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจในการขยายฐานการผลิตเพื่อเสริมศักยภาพและขยาย โอกาสการค้าการลงทุนให้ได้ก่อนคู่แข่ง
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2561