คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ถือเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุด และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ขาดทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะถัดไป แม้ปัจจุบัน สถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน กำลังอยู่ในช่วงพักรบชั่วคราว ภายหลังการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนในการประชุม G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนตกลงกันว่าจะยังไม่มีมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่เริ่มมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันครั้งแรกตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ก่อนจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเพิ่มเติมอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2561 ได้เริ่มส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจให้เห็นแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index : PMI index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนล่าสุดในเดือนธันวาคม 2561 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.4 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนที่ดัชนีดังกล่าวของจีนปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนถึงภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณหดตัว ขณะที่มูลค่าส่งออกของจีนล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนชะลอการขยายตัวลงเหลือ 5.4% ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน เช่นเดียวกับตัวเลขนำเข้าของจีนในเดือนเดียวกันที่ชะลอการขยายตัวลงเหลือ 3% ต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เริ่มชะลอลงตามภาคการผลิต ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2562 ขยายตัว 6.2% ต่ำสุดในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่ปี 2533 เศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอลงจากสงครามการค้าดังกล่าว เริ่มส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศจีนในระดับสูง อาทิ สิงคโปร์ มูลค่าส่งออกของสิงคโปร์ไปจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสิงคโปร์ด้วยสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม) ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2561 หดตัวถึง 16% ส่งผลให้มูลค่าส่งออกรวมของสิงคโปร์หดตัว 2.6% ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 4 ปี 2561 (ตัวเลขเบื้องต้น) ชะลอการขยายตัวลงเหลือ 2.2% ต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส โดยเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวกว่า 8%โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่สิงคโปร์เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีน เกาหลีใต้ มูลค่าส่งออกของเกาหลีใต้ไปจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ด้วยสัดส่วนราว 25% ของมูลค่าส่งออกรวม) ล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2561 หดตัว 13.9% โดยมูลค่าส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเกาหลีใต้ไปจีนหดตัว 8.3% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 26 เดือน ขณะที่ดัชนี PMI อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันสะท้อนภาคการผลิตที่หดตัวลง ไต้หวัน มูลค่าส่งออกของไต้หวันไปจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 1ของไต้หวันด้วยสัดส่วนราว 30% ของมูลค่าส่งออกรวม) ในเดือนพฤศจิกายนหดตัว 6.1% ส่งผลให้มูลค่าส่งออกรวมของไต้หวันหดตัว 3.4% ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน สอดคล้องกับดัชนี PMI ของไต้หวันเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 47.7 ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน และการจ้างงานของไต้หวันเดือนธันวาคม 2561 ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี สำหรับประเทศไทยก็เริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เช่นเดียวกัน โดยมูลค่าส่งออกของไทยไปจีนเดือนพฤศจิกายน 2561 หดตัว 8.9% อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกโดยรวมของไทยหดตัวเพียง 0.9% ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยกระจายตลาดส่งออกได้ค่อนข้างดี และไม่ได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง มากเกินไป โดยปัจจุบันไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น EU และ CLMV ในสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ราว 10% ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากเหมือนประเทศที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาสงบศึกระหว่างสหรัฐฯ และจีน และถึงกำหนดที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีกระลอกหากทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถเจรจากันได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากสงครามการค้าครั้งนี้ยังยืดเยื้อ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2562