ชั่วโมงนี้ประเด็นร้อนที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้คือ เงินบาทที่ล่าสุดแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนลงมาแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี ส่งผลให้เงินบาทกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลกหากนับตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากสภาวะที่เรียกว่า “อ่อนนอก แข็งใน” โดยสภาวะอ่อนนอก ที่กำลังพูดถึงก็คือ เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงจากปัจจัยเสี่ยงที่เร่งตัวขึ้น ทั้งสงครามการค้าที่เริ่มส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลังเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายประเทศ อาทิ BREXIT การประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติในสหรัฐฯ จากผลพวงความขัดแย้งเรื่องงบประมาณสร้างกำแพงกั้นสหรัฐฯ กับเม็กซิโก เหตุการณ์ประท้วงในฝรั่งเศสและเวเนซุเอลา เป็นต้น ทำให้ล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 เหลือขยายตัว 3.5% ต่ำสุด ในรอบ 3 ปี
ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือสภาวะแข็งใน ซึ่งในที่นี้หมายถึงเศรษฐกิจไทย การที่พูดแบบนี้อาจมีคำถามว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจนเป็นสาเหตุหลักให้เงินทุนไหลเข้าและเงินบาทแข็งค่าจริงหรือ ทั้งๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าใดนักซึ่งคงไม่แปลกที่จะมีบางส่วนคิดแบบนั้น เพราะการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินบาทขึ้นอยู่กับภาคเศรษฐกิจต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ การจะตอบคำถามข้างต้นได้อาจต้องพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้ราคาของเงินบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นั่นก็คืออุปสงค์หรือความต้องการเงินบาท ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- อุปสงค์เงินบาทแท้จริง คือ ความต้องการเงินบาทที่เกิดจากกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริง ได้แก่การแลกเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกไทย เงินที่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาตินำมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อนำมาลงทุนและใช้จ่ายในไทย แม้เงินทุนไหลเข้าในส่วนนี้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยบางภาคส่วนแข็งแกร่งขึ้น สะท้อนได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลกว่า 7% ต่อ GDP แต่เงินส่วนนี้อาจตกไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศเท่าใดนัก ทำให้บางส่วนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีนัก ซึ่งจริงๆ แล้ว ณ เวลานี้อาจต้องใช้คำว่า เศรษฐกิจไทยยืดหยุ่นมากกว่าแข็งแกร่งโดยเฉพาะด้านต่างประเทศที่การส่งออกสินค้าของเราแม้ถูกกระทบจากสงครามการค้าเช่นเดียวกับประเทศอื่น แต่เราก็ยังมีการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัวโดดเด่นเข้ามาช่วยประคับประคองได้ดี
- อุปสงค์เงินบาทเทียม ที่เกิดจากเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดการเงิน ซึ่งเงินทุนเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริงเท่าใดนัก แต่เข้ามาหากำไรระยะสั้นหรือพักเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งสะท้อนได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก หนี้ต่างประเทศต่อ GDP ต่ำไม่ถึง 30% และอัตราเงินเฟ้อต่ำราว 1% ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนในตลาดการเงินเชื่อมั่นและทำให้เงินบาทกลายเป็นแหล่งพักเงินสำคัญของภูมิภาค แม้ว่าอัตราผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ต่ำกว่าหลายประเทศ แต่เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาในลักษณะนี้อาจหวังผลในแง่การรักษามูลค่าของเงินลงทุนมากกว่าจะหาผลตอบแทนในระยะสั้น
สรุปได้ว่า เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลโดยตรงจากการที่ประเทศไทยมีกิจกรรมเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่ยืดหยุ่น และเป็นผลพลอยได้จากการที่เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศจึงเป็นเป้าหมายของการเป็นที่พักเงินในยามที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเงินบาทแข็งค่าจะเกิดจากสาเหตุใด ถือว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากและคาดว่ายังมีแนวโน้มผันผวนตลอดทั้งปี ดังนั้น ผู้ส่งออกไม่ควรเก็งกำไรค่าเงินในทุกกรณี แต่ควรหันมาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าในการนำเข้าหรือพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของตน รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในอนาคต
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2562