Share โลกเศรษฐกิจ: 2562...ปีแห่งความท้าทายของสหภาพยุโรป

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 5, 2019 10:28 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

นับตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นมา มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ รวมถึงความรู้สึกของผู้อ่านหลายๆ ท่านที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกในปี 2562 คงดูไม่ค่อยสดใสนัก โดยส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่าเป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนบรรยากาศการค้า การลงทุน และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้อย่างน่าจับตามองไม่แพ้กัน คือ ทิศทางของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป หรือ EU โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ EU ในปีนี้เหลือขยายตัว 1.6% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากเดิมที่เคยคาดไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ว่าจะขยายตัว 1.9% นับเป็นประเทศตลาดหลักที่ถูกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงมากที่สุดในรอบนี้ ซึ่งหากมองปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในปี 2562 พบว่า EU กำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ได้แก่

  • เศรษฐกิจเยอรมนีเริ่มสั่นคลอน เยอรมนีถือเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของ EU ด้วยสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็นราว 30% ของเศรษฐกิจ EU โดยรวมและถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ EU อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มชะลอลงมาก โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัว 1.3% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีสัดส่วนราว 20% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด หลังจากที่มีการตรวจสอบพบว่าบริษัทรถยนต์หลายค่ายของเยอรมนีบิดเบือนผลการทดสอบมาตรฐานการปล่อยไอเสีย (Automobile Emission Standard) ในห้องทดสอบ ทั้งๆ ที่ผลการทดสอบไม่ผ่านมาตรฐานในการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ทำให้ในปี 2562 ค่ายรถยนต์ต่างๆ ต้องเร่งแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อลดการปล่อยไอเสียหรือการเรียกคืนรถยนต์บางส่วน ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนีแนวโน้มซบเซาและฉุดให้เศรษฐกิจเยอรมนีในปี 2562 ชะลอลงตามไปด้วย
  • เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศยักษ์ใหญ่เริ่มไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ซึ่งคะแนนความนิยมของรัฐบาลตกต่ำสุดในรอบหลายปี สะท้อนจากผลการเลือกตั้งท้องถิ่นในแคว้นบาวาเรีย ซึ่งเป็นแคว้นที่มีความสำคัญที่สุดของเยอรมนี โดยพรรคของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ได้คะแนนเสียง 37% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนนำไปสู่การตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคของนางแมร์เคิล ฝรั่งเศส หลังจากที่ เอมมานูเอล มาครง นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน ทำให้เกิดการประท้วงในหลายเมือง โดยเฉพาะในปารีส จากกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง (Yellow Vest) ซึ่งการประท้วงยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ การประท้วงในฝรั่งเศสยังเหมือนไฟลามทุ่งที่ก่อให้เกิดกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลและออกมาประท้วงในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสเปน เบลเยียมและฮังการี
  • เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในยุโรป (Emerging Europe) ยังเปราะบาง จากคาดการณ์เศรษฐกิจของ IMF ฉบับล่าสุด กลุ่ม Emerging Europe กลายเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2562 ลงมากที่สุด จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 2% เหลือ 0.7% และทำให้ Emerging Europe กลายเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำที่สุดในโลกในปี 2562 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังยืดเยื้อ โดยเฉพาะตุรกีที่ล่าสุดเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2561 หดตัว 1.1% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจตุรกีจะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ
  • บทสรุป Brexit ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ การแยกตัวออกจาก EU ของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit กำลังจะถึงเส้นตายในวันที่ 29 มีนาคม 2562 อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่าง EU และสหราชอาณาจักรกลับยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งในเวลาอีก 2 เดือนข้างหน้าหากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ อาจทำให้สหราชอาณาจักรต้องแยกตัวแบบ No-deal Brexit ซึ่งสหราชอาณาจักรจะถูกตัดสิทธิประโยชน์ด้านการค้า การลงทุนที่เคยได้รับจาก EU ทั้งหมด และมีผลบังคับใช้ในทันที ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด(Worst Case) และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสหราชอาณาจักรและ EU อย่างรุนแรง

จากทิศทางเศรษฐกิจ EU ที่มีแนวโน้มชะลอลง ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยนัก ย่อมส่งผลต่อการส่งออกของไทยไป EU อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของไทยไป EU ในปี 2561 ขยายตัว 5.2% ชะลอลงจากปี 2560 ที่ขยายตัว 7.9% ขณะที่หากพิจารณามูลค่าส่งออกรายเดือนของไทยไป EU พบว่าหดตัว 3 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกไปยังตลาด EU ควรติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ EU อย่างใกล้ชิด

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ