สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กอปรกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้นมาก ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคมีทัศนคติและไลฟ์สไตล์ที่ต่างจากในอดีต และส่งผลต่อเนื่องถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการ สำหรับปี 2562 มี 3 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจ ดังนี้
แนวคิดสุดโต่งที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภค คือ แนวคิดเรื่องวีแกน (Veganism) ซึ่งนอกจากไม่รับประทานและไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ได้จากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นนม เนย เสื้อผ้าขนสัตว์ เครื่องหนังที่ผลิตจากหนังสัตว์ รวมถึงเครื่องสำอาง ยา หรือของใช้ในชีวิตประจำวันจำพวกสบู่ แชมพู ที่ใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นส่วนผสมแล้ว ยังต่อต้านการใช้สัตว์เพื่อทดลองยาและเครื่องสำอางด้วย ทั้งนี้ การที่ผู้บริโภคเลือกเป็นวีแกนก็มีหลากหลายเหตุผลผู้บริโภควีแกนบางคนงดรับประทานเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง เพราะเชื่อว่าอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดงไม่ดีต่อสุขภาพ ขณะที่บางคนใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) จึงไม่ต้องการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ และบางคนเลือกเป็นวีแกนเพราะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก และมองว่าการผลิตเนื้อสัตว์มีกระบวนการที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาลและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารหรือไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์โดยเด็ดขาดอาจทำได้ยาก ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงเลือกวิธีที่ยืดหยุ่น โดยปรับพฤติกรรมเลือกเป็นวีแกนอย่างเต็มตัวเพียงบางมื้อหรือเพียงสัปดาห์ละ 1-2 วัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกระแสการรับประทานอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian) ซึ่งเคร่งครัดน้อยกว่าวีแกน แต่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ปกติมักมีค่านิยมว่าเนื้อสัตว์เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเป็นเครื่องหมายบ่งบอกฐานะ สังเกตได้จากประเทศที่มีผู้บริโภครับประทานอาหารมังสวิรัติเพิ่มขึ้นมากที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2559-2560 ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงไทยที่มีผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติเพิ่มขึ้นถึง 9 หมื่นคน
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองกับกระแสงดบริโภคเนื้อสัตว์ที่แพร่หลายขึ้น ธุรกิจต่างๆได้เริ่มปรับตัวให้เข้ากับกระแสดังกล่าว โดยเชนอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง อย่าง KFC เตรียมนำเมนู “Faux Fried Chicken” หรือไก่ทอดที่ผลิตจากวัตถุดิบเลียนแบบเนื้อไก่ผสมกับเครื่องเทศและเครื่องปรุงรส ออกจำหน่ายให้กับลูกค้าในสหราชอาณาจักรในปี 2562 หลังเมนู “Veggie Burger” หรือเบอร์เกอร์ที่ใช้ผักเป็นส่วนประกอบหลักเคยได้รับความนิยมจากลูกค้าในแคนาดา นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้มาแล้ว ขณะที่เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากพืช อาทิ สารสกัดจากพืช น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ก็มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ เช่น คอลลาเจน (Collagen) และไขมันที่ได้จากแกะ (Lanolin)
แม้กระแสลดการใช้พลาสติกจะมีมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคในหลายประเทศหันมาตื่นตัวมากขึ้นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาพข่าวที่สัตว์ทะเลอย่างวาฬและเต่าเสียชีวิตจากการกลืนขยะพลาสติกเข้าไปปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าสุขภาพและความงามผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน และอาหารสัตว์ สูงถึงร้อยละ 63 ของบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก แต่ยังขาดการกำจัดอย่างถูกวิธีหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้มีขยะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศเร่งหาทางแก้ปัญหา แม้กระทั่งจีนที่เคยรับซื้อขยะจากต่างประเทศมารีไซเคิล ก็ได้ประกาศห้ามนำเข้าเศษขยะพลาสติกเพื่อควบคุมปัญหามลภาวะในประเทศตั้งแต่ปี 2561 ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก สะท้อนได้จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ Euromonitor ประจำปี 2558 และปี 2560 ที่พบว่า มีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นที่ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ กระแสตื่นตัวของผู้บริโภคดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเร่งปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ อาทิ IKEA ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้านรายใหญ่ของโลกตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 จะยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ ถ้วย จาน ช้อน ในร้านค้าและศูนย์อาหาร อีกทั้งสินค้าทุกชิ้นจะต้องผลิตจากวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ Iceland ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรเตรียมใช้ถาดกระดาษแทนถาดพลาสติก และหันมาใช้ฟิล์มห่ออาหารที่ไม่มีส่วนผสมของพลาสติก (Plastic-Free Film) สำหรับสินค้าที่บริษัทผลิตเอง (House Brand) ภายในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 16,000 ตัน ระหว่างปี 2562-2566
ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่เส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวเลือนรางลง จากเดิมที่เวลางานถูกกำหนดไว้ตายตัวตามเวลาทำการแต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และ Social Network ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันทำได้สะดวกรวดเร็วทุกคนจึงคล้ายถูกคาดหวังให้ต้องเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองกับงานที่เข้ามาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับการใช้ Social Media ก็ทำให้แต่ละคนสูญเสียความเป็นส่วนตัว ประกอบกับธรรมชาติของการใช้งานอินเทอร์เน็ตและ Social Media ที่จะมีการแจ้งเตือนเรื่องต่างๆ เข้ามาตลอดเวลา อาทิ แจ้งเตือนการได้รับอีเมลฉบับใหม่ แจ้งเตือนการขอนัดประชุม แจ้งเตือนข้อความใหม่ในแอพพลิเคชั่น LINE หรือแจ้งเตือนว่ามีเพื่อนมาแสดงความคิดเห็นในรูปที่โพสต์ไว้ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นความสนใจอยู่ตลอดเวลาทำให้ร่างกายเกิดความเครียด (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) สังเกตได้จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่เห็นตรงกันว่าการใช้อินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดความเครียด โดยประเทศที่มีสัดส่วนของประชากรที่ยอมรับว่าตนเองมีระดับความเครียดจากการใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด คือ อินเดีย รัสเซีย ไทย บราซิล และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
ดังนั้น จึงเกิดกระแสการตัดขาดจากโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นการชั่วคราว เพื่อทำกิจกรรมในชีวิตจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเดินทางท่องเที่ยว การนั่งพักผ่อนในร้านกาแฟที่ปลอดจากสัญญาณอินเทอร์เน็ต การเดินเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการในร้านค้าจริงๆ หรือแม้แต่ การฟังหนังสือเสียง (Audiobook) ระหว่างเดินทางกลับบ้านหรือระหว่างวิ่งออกกำลังกายซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์จากเนื้อหาในหนังสือที่ฟังแล้ว ยังช่วยดึงความสนใจจากความเมื่อยล้าหรือความเหน็ดเหนื่อยจากการวิ่งได้ รวมถึงการลงเรียนในหลักสูตรที่สอนสด เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มพูนความรู้หรือทักษะที่เป็นประโยชน์แล้ว การได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนยังส่งผลดีต่อสภาพจิตใจอีกด้วย ทั้งนี้ มีธุรกิจบริการใหม่ๆ ที่เรียกว่าเป็น “ดิจิทัลดีทอกซ์ (Digital Detox)” เช่น โรงแรมที่เปิดให้บริการ “ปลอดเทคโนโลยี” เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาพักได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาพักได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2562