ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในชีวิตประจำวัน และส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อาทิ การจ่ายค่าสินค้า และการโอนเงิน ปัจจุบันเราสามารถจ่ายค่าสินค้าได้ด้วยบัตรเครดิต หรือใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมดังกล่าวผ่านแอพพลิเคชั่นทางการเงิน เช่นเดียวกับการโอนเงินที่สามารถทำได้ง่ายดายผ่านโทรศัพท์มือถือ มีข้อน่าสังเกตว่า ขณะที่โลกการเงินของประเทศส่วนใหญ่กำลังก้าวไปในทิศทางดังกล่าว กัมพูชากลับมีระบบการโอนเงินเฉพาะตัว ซึ่งแม้จะเป็นวิธีที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน แต่ก็เป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะของกัมพูชาได้ตรงจุด ขณะเดียวกันกัมพูชาก็ยังคงเป็นประเทศที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของชาวกัมพูชาในอนาคต
มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่นิยมโอนเงินผ่านธนาคาร แต่จะใช้บริการจากผู้ให้บริการโอนเงินโดยใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้โอนเงินในการระบุตัวตนคล้ายคลึงกับเลขที่บัญชีธนาคาร เนื่องจากชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคารจึงไม่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมผ่านธนาคารหรือตู้ ATM สอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารโลกที่ระบุว่า ในปี 2560 ชาวกัมพูชาที่มีบัญชีธนาคารหรือบัญชีของสถาบันการเงินประเภทอื่นมีสัดส่วนราว 22% ของประชากรทั้งหมดจำนวน 15 ล้านคน ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเมียนมาอยู่ที่ 26% สปป.ลาว 29% และเวียดนาม 31% ส่วนไทยอยู่ที่ 82% ขณะที่ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตของชาวกัมพูชา สะท้อนได้จากข้อมูลที่ว่ากว่า 90% ของชาวกัมพูชามีโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นการโอนเงินโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือจึงตอบโจทย์และเข้าถึงชาวกัมพูชาส่วนใหญ่
สำหรับผู้ให้บริการโอนเงินด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือรายสำคัญในกัมพูชา คือ Wing (Cambodia) Limited Specialized Bankหรือ Wing ซึ่งมี Wing Cash Xpress (WCX) เป็นตัวแทนที่มีจุดให้บริการโอนเงินกระจายกว่า 6,000 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัดในกัมพูชา ซึ่งด้วยสาขาที่มีจำนวนมาก การโอนเงินในรูปแบบนี้จึงเป็นที่นิยมสำหรับการโอนเงินระหว่างบุคคล ไปจนถึงการโอนเงินชำระค่าสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ ทั้งนี้ นอกจากการโอนเงินระหว่างบุคคลแล้ว Wing ยังเป็นผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศสำหรับชาวกัมพูชาในต่างประเทศที่ต้องการส่งเงินกลับมายังกัมพูชา (International Remittance) เนื่องจาก Wing มีความร่วมมือกับผู้ให้บริการโอนเงินในต่างประเทศชั้นนำหลายราย อาทิ Western Union และ WorldRemit รวมถึงธนาคารพาณิชย์ของไทยอย่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และล่าสุดเมื่อปลายปี 2561 Wing ยังได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้พัฒนาบริการรับโอนเงินจากทั่วโลกไปยังกัมพูชาซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการโอนเงินระหว่างประเทศ
1. ผู้โอนเงินแจ้งจำนวนเงินที่ต้องการโอน รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้โอนเงินและผู้รับโอนเงินพร้อมทั้งชำระเงินสดตามจำนวนที่ต้องการโอนแก่ WCX ที่ใช้บริการ
2. ผู้โอนเงินจะได้รับรหัสผ่าน 8 หลัก และใบเสร็จจาก WCX เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
3. ผู้โอนเงินแจ้งรหัสผ่าน จำนวนเงินที่โอน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้โอนเงินให้แก่ผู้รับโอนเงิน
4. ผู้รับโอนเงินต้องแจ้งรหัสผ่าน จำนวนเงินที่รับโอน หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้โอนเงินและผู้รับโอนเงินแก่ WCX ที่ใช้บริการ
5. WCX ดำเนินการยืนยันตัวตนผู้รับโอนเงินด้วยการส่ง SMS หรือโทรเข้าหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนเงิน ซึ่งผู้รับโอนเงินจะต้องแสดง SMS จากหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือการโทรเข้าเพื่อรับเงินสดจาก WCX สำหรับค่าธรรมเนียมการให้บริการโอนเงินโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ครั้งละ 0.38-2.50 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่โอน (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2562) ทั้งนี้ WCX จำกัดการโอนเงินต่อครั้งสูงสุดที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันการโอนเงินส่วนใหญ่ในกัมพูชายังนิยมใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ แต่กระแสการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ประกอบกับการก้าวสู่การเป็นสังคมเมือง และการขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางในกัมพูชามีแนวโน้มส่งผลให้พฤติกรรมทางการเงินของชาวกัมพูชาโดยเฉพาะที่อาศัยในเมืองหลวงอย่างกรุงพนมเปญ ปรับเปลี่ยนรูปแบบสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น รูปแบบการโอนเงินของกัมพูชาในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปเมื่อชาวกัมพูชามีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและความพร้อมทางการเงินมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่จำหน่ายสินค้าในตลาดกัมพูชาจึงควรทำความเข้าใจและติดตามพฤติกรรมทางการเงินของชาวกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2562