รัฐบาลเมียนมายังคงทยอยปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบสำคัญของประเทศเพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ (Consumer Protection Law) เพื่อทดแทนกฎหมายฉบับเดิมปี 2557 โดยเนื้อหาในกฎหมายฉบับใหม่มีทั้งหมด 25 มาตรา มากกว่าฉบับเดิมที่มีเพียง 12 มาตรา ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายในประเด็นต่างๆ มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ สิทธิ์ของผู้บริโภค ความปลอดภัยของผู้บริโภค บทบาทของภาคธุรกิจ และบทบาทของภาครัฐ ไปจนถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากสินค้าและการรับประกันคุณภาพสินค้า ทั้งนี้ สำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากสินค้าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยที่จำหน่ายสินค้าในตลาดเมียนมาต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่กำหนดให้ข้อมูลส่วนหนึ่งในฉลากต้องเป็นภาษาเมียนมา โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม 2563 หรือมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวอีกหนึ่งปีหลังจากประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่
กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ฉลากสินค้าที่จำหน่ายในเมียนมาต้องแสดงข้อมูล ดังนี้
1. เครื่องหมายการค้า
2. รายละเอียดของสินค้า ประกอบด้วยชื่อทั่วไปของสินค้า ขนาด น้ำหนัก ปริมาณ วิธีการเก็บรักษา และวิธีการใช้หรือบริโภค
3. วันเวลาที่ผลิต วันเวลาหมดอายุ และหมายเลขรอบการผลิตของสินค้า
4. ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้าและผู้ผลิต
5. สถานที่ผลิตและบรรจุสินค้าใหม่(Repackaging) สำหรับสินค้านำเข้า
6. ชื่อ ชนิด ปริมาณ และสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ผลิต
7. ผลข้างเคียง อาการแพ้ และคำเตือนของการใช้หรือบริโภคสินค้า
8. ข้อมูลอื่นตามข้อกำหนดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้า
ฉลากภาษาเมียนมา
ข้อกำหนดเบื้องต้นบังคับให้ข้อมูลข้อ 2 และข้อ 7 ต้องแสดงเป็นภาษาเมียนมาแต่อาจแสดงควบคู่กับภาษาอื่นได้ โดยจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563
สินค้าที่ต้องติดฉลากเป็นภาษาเมียนมา
อาหารและเครื่องดื่ม
น้ำผลไม้ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่ อาหารกระป๋อง น้ำมันสำหรับการบริโภค กาแฟและชาสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง อาหารแช่เย็น น้ำดื่ม เครื่องปรุงรส พริกและซอสอื่นๆ ขนมขบเคี้ยว อาหารเสริมสำหรับเด็ก ใบยาสูบสำหรับใช้ในยาเส้น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารกล่อง
ของใช้ในครัวเรือน
ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในครัวเรือน
ของใช้สำหรับเด็ก
รถเข็นเด็ก เปลนอน รถหัดเดิน ของเล่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างงกายเด็ก
อุปกรณ์สื่อสาร
โทรศัพท์ โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์
ยาและอาหารเสริม
ยาสามัญประจำบ้าน
เคมีภัณฑ์
ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช เคมีภัณฑ์ที่ใช้กับอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตจากเคมีภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม
เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม
อุปกรณ์อาบน้ำ
ยาสีฟัน สบู่
อุปกรณ์อื่นๆ
อุปกรณ์ทางการเกษตร อุปกรณ์ออกกำลังกาย
ที่มา : dentons.rodyk.com และ www.tilleke.com
นอกจากข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้า การรับประกันสินค้าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่มีข้อกำหนดให้ต้องระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนในการรับประกันสินค้า อาทิ มาตรฐานของสินค้า การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสินค้าความปลอดภัยของสินค้า ชิ้นส่วนสำรอง การรับซ่อมสินค้า และการเปลี่ยนสินค้า โดยผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้ามีสิทธิ์ในการเปลี่ยน ขอคืนเงิน หรือเรียกร้องเงินชดเชย ในกรณีที่สินค้าได้รับความเสียหายหรือไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการกิจการผู้บริโภคระดับประเทศเพื่อกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งยังได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการระดับท้องถิ่นในแต่ละรัฐ/ภาคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ดังนั้น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่จะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายในเมียนมา
ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ของเมียนมา คาดว่าผู้ประกอบการไทยจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาเมียนมา หรือการใช้วิธีติดสติกเกอร์ฉลากภาษาเมียนมาเพิ่มเติมลงในบรรจุภัณฑ์เดิม ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเตรียมการแต่เนิ่นๆ และควรจะมีการเจรจากับผู้นำเข้าหรือผู้จัดจำหน่ายในเมียนมาให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับฉลากภาษาเมียนมาดังกล่าว เนื่องจากการส่งออกสินค้าส่วนหนึ่งจะมีการบรรจุหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ใหม่ (Repackaging) ในประเทศปลายทาง นอกจากนี้ ควรเพิ่มความระมัดระวังกรณีที่เจ้าของสินค้าไม่ได้จำหน่ายสินค้าไปเมียนมาเองโดยตรง แต่เป็นการนำเข้าไปเองโดยพ่อค้าคนกลางตามแนวชายแดน ทำให้ไม่มีผู้รับผิดชอบในการติดฉลากภาษาเมียนมาก็อาจทำให้เจ้าของสินค้าเผชิญกับปัญหายอดจำหน่ายสินค้าโดยรวมลดลง
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2562