เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานในกัมพูชา

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 4, 2019 13:55 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

กัมพูชาเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิ์และสวัสดิการของแรงงานอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปขยายธุรกิจในกัมพูชาจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายแรงงานของกัมพูชาให้เป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการแรงงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ อันจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายแรงงานของกัมพูชามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเมื่อเทียบกับกฎหมายด้านอื่นๆ ของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลกัมพูชาไม่ต้องการให้แรงงานชาวกัมพูชาถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง กฎหมายแรงงานจึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิ์ของแรงงานกัมพูชาเป็นอย่างมาก ขณะที่นายจ้างทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานของกัมพูชาที่ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง หลังจากกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรม (Ministry of Labor and Vocational Training : MLVT) ของกัมพูชาได้ออกกฎระเบียบใหม่ที่เรียกว่า Employment Seniority Payment ภายใต้ Prakas No. 443 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างไว้ล่วงหน้าสำหรับลูกจ้างที่มีสัญญาจ้างแบบไม่ระบุเวลาสิ้นสุดสัญญา(Unspecified Duration Contracts : UDC) ตั้งแต่ลูกจ้างยังทำงานอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้น

กฎระเบียบเดิม : การจ่ายเงินชดเชยจากการเลิกจ้าง (Indemnity of Dismissal)

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่มีสัญญาจ้างแบบไม่ระบุเวลาสิ้นสุดสัญญา (Unspecified Duration Contracts : UDC)นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยจากการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นการจ่ายให้ลูกจ้างเพียงงวดเดียวในวันสุดท้ายที่ทำงาน โดยจ่ายในอัตราค่าจ้างแรงงาน 15 วันต่อปี ตามอายุการทำงานที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างทำงานมา 5 ปี และถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยจากการเลิกจ้างเท่ากับ 5 ปี x 15 วัน = 75 วันของค่าจ้างแรงงาน

กฎระเบียบใหม่ : Employment Seniority Payment

ภายใต้กฎระเบียบใหม่ที่เรียกว่า Employment Seniority Payment ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เงินชดเชยจากการเลิกจ้างซึ่งเดิมลูกจ้างจะได้เป็นเงินก้อนหนึ่งเมื่อถูกเลิกจ้างเท่านั้น จะถูกนำมาทยอยจ่ายให้กับลูกจ้างระหว่างการทำงานในปัจจุบันเลย ซึ่งเงินดังกล่าวถูกเรียกใหม่ว่า “Seniority Payment” แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. Current Seniority Payment ซึ่งคิดจากเวลาการทำงานในปัจจุบัน และ

2. Back Pay Seniority Payment ซึ่งคิดจากเวลาการทำงานที่ผ่านมาในอดีต โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • Current Seniority Payment สำหรับการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยล่วงหน้าเท่ากับอัตราค่าจ้างแรงงานรวมสวัสดิการ 15 วันต่อปี โดยนายจ้างต้องแบ่งจ่าย 2 รอบต่อปี รอบแรกภายในเดือนมิถุนายนของแต่ละปี ในอัตรา 7.5 วันของค่าจ้างแรงงานรวมสวัสดิการเฉลี่ย 6 เดือนแรก และรอบที่สองภายในเดือนธันวาคมของแต่ละปี ในอัตรา 7.5 วันของค่าจ้างแรงงานรวมสวัสดิการเฉลี่ย 6 เดือนหลัง
  • Back Pay Seniority Payment สำหรับลูกจ้างที่เข้าทำงานก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562 (ต้องมีอายุงานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป) และนับอายุงานนานที่สุดถึงปี 2551 จะได้จ่ายเงินชดเชยย้อนหลังตามอายุงานจริง โดยยอดเงินรวม Back Pay Seniority Payment คิดในอัตราค่าจ้าง 15 วันต่อปีคูณด้วยจำนวนอายุงาน ตัวอย่างเช่นทำงานมาแล้ว 5 ปี ก็จะได้ Back Pay Seniority Payment เท่ากับ 5 ปี x 15 วัน = 75 วัน โดยแบ่งจ่าย 2 รอบต่อปี แต่มีการกำหนดรายละเอียดการแบ่งจ่ายต่างกันระหว่างอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ากับอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนี้
  • อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า นายจ้างต้องแบ่งจ่ายเงิน Back Pay Seniority Payment ปีละ 30 วัน โดยแบ่งออกเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกภายในเดือนมิถุนายนของแต่ละปี ในอัตรา 15 วันของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของปีที่ทำงาน และรอบที่ 2 ภายในเดือนธันวาคมของแต่ละปี ในอัตรา 15 วันของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของปีที่ทำงาน
  • ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า นายจ้างต้องแบ่งจ่ายเงิน Back Pay Seniority Payment ปีละ 15 วัน โดยแบ่งจ่าย 2 รอบเช่นกัน ในอัตรารอบละ 7.5 วันของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของปีที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2562 กระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมของกัมพูชาได้เลื่อนการบังคับใช้การจ่ายเงิน Back Pay Seniority Payment ในภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 เพื่อให้นายจ้างมีเวลาปรับตัวขณะเดียวกัน ได้ปรับลดการจ่ายเงิน Back Pay Seniority Payment ปีละ 15 วัน เหลือปีละ 6 วัน โดยให้นายจ้างแบ่งจ่าย 2 รอบต่อปี คือ รอบแรกภายในเดือนมิถุนายนของแต่ละปี ในอัตรา 3 วันของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของปีที่ทำงาน และรอบที่ 2 ภายในเดือนธันวาคมของแต่ละปี ในอัตรา 3 วันของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของปีที่ทำงาน
ตัวอย่างการจ่ายเงิน Employment Seniority Payment

ตัวอย่างที่ 1 นาย ก. ทำงานในโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาแล้ว 10 ปี : นายจ้างต้องจ่าย Back Pay Seniority Payment เท่ากับอัตราค่าจ้าง 150 วัน (10 ปี x 15 วัน) โดยจ่ายปีละ 30 วัน แบ่งจ่าย 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน ดังนั้น นายจ้างต้องจ่าย Back Pay Seniority Payment ทั้งหมด 10 งวด ใน 5 ปี จนถึงปี 2566

ตัวอย่างที่ 2 นาย ข. ทำงานในโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาแล้ว 4 ปี : นายจ้างต้องจ่าย Back Pay Seniority Payment เท่ากับอัตราค่าจ้าง 60 วัน (4 ปี x 15 วัน) โดยจ่ายปีละ 30 วัน แบ่งจ่าย 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน ดังนั้น นายจ้างต้องจ่าย Back Pay Seniority Payment ทั้งหมด 4 งวด ใน 2 ปี จนถึงปี 2563

ตัวอย่างที่ 3 นาย ค. ทำงานในโรงงานผลิตสินค้าอื่นๆ มา 4 ปี : นายจ้างต้องจ่าย Back Pay Seniority Payment เท่ากับอัตราค่าจ้าง 60 วัน (4 ปี x 15 วัน) โดยจ่ายปีละ 6 วัน แบ่งจ่าย 2 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน ดังนั้น นายจ้างต้องจ่าย Back Pay Seniority Payment ทั้งหมด 20 งวด ใน 10 ปี โดยเริ่มจ่ายครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2565 ไปจนถึงปี 2574

ทั้งนี้ กฎระเบียบ Employment Seniority Payment นี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในกัมพูชามีต้นทุนด้านรายจ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นทันที โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานให้กับลูกจ้างเก่าเพิ่มขึ้นอีก 45 วันต่อปี (Current Seniority Payment 15 วัน + Back Pay Seniority Payment 30 วัน) ขณะที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอื่นๆ ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีก 15 วันต่อปี (Current Seniority Payment 15 วัน) ไปจนถึงช่วงปลายปี 2564 ก่อนที่จะเริ่มจ่าย Back Pay Seniority Pay งวดแรกในเดือนมิถุนายน 2565 เท่ากับว่าในปี 2565 ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอื่นๆ ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 21 วันต่อปี (Current Seniority Payment 15 วัน + Back Pay Seniority Payment 6 วัน) ซึ่งภาระด้านรายจ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้ายังมีเวลาปรับตัวและควรคำนวณรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าเพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้กระทบกับผลประกอบการของบริษัท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรติดตามความเคลื่อนไหวของกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมของกัมพูชาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกฎระเบียบด้านแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ