เปิดประตูสู่ตลาดใหม่: ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม...อีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยในทวีปแอฟริกา

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 7, 2019 13:56 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

HIGHLIGHTS
  • ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมความงามในทวีปแอฟริกามีอัตราขยายตัวสูงและมีแนวโน้มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง
  • แบรนด์ระดับโลกรุกตลาดแอฟริกาด้วยการตั้งศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์วิจัยผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวแอฟริกันโดยเฉพาะ
  • ตลาดขนาดใหญ่และเติบโตดีอยู่ในแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งมีประชากรมากและมีกำลังซื้อ
  • ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในกลุ่มหัวน้ำหอมและน้ำหอม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และสบู่ รวมถึงสินค้าประเภทวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง เช่น สารอินทรีย์ที่เป็นตัวลดแรงตึงผิว ไขเทียมและไขปรุงแต่ง และเอสเซนเชียลออยล์

ทำไมต้องทวีปแอฟริกา?

“ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมความงามในทวีปแอฟริกาเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

มูลค่านำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมความงาม (หมวดเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว) ในตลาดแอฟริกาเพิ่มขึ้น 9% ต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

“แบรนด์ระดับโลกรุกตลาดแอฟริกา”

L’Oreal จัดตั้ง
  • ศูนย์กระจายสินค้าในไนจีเรีย เคนยาและแอฟริกาใต้ เพื่อให้ครอบคลุมในแต่ละภูมิภาค
  • ศูนย์วิจัยผลิตภัณฑ์ในประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อพัฒนาและผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
“ทวีปแอฟริกามีประชากรหญิงจำนวนมากและส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน”

ผู้หญิงในทวีปแอฟริกามีมากถึง 600 ล้านคน และกว่าครึ่งหนึ่ง (ราว 54%) อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี)

“ผู้หญิงผิวสี ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในแอฟริกาใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามมากกว่าผู้หญิงผิวขาว”

ผลสำรวจพบว่าผู้หญิงผิวสีใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามโดยเฉลี่ยมากกว่าผู้หญิงผิวขาวสูงถึง 3 เท่า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมที่ใช้มากถึง 9 ชิ้น”

ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมความงามในทวีปแอฟริกา

“5 ประเทศที่มีมูลค่านำเข้ามากที่สุดในปี 2561”
  • แอฟริกาใต้เป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมความงามมากเป็นอันดับ 1 เนื่องจากการเติบโตของสังคมเมือง (ปัจจุบันประชาชนในเขตเมืองมีสัดส่วนมากถึง 66%) และเป็นที่ตั้งโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทชั้นนำอย่าง L’Oreal Revlon และ Unilever
  • 4 ใน 5 อันดับของประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมความงามมากที่สุดอยู่ในแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งประชากรค่อนข้างมีกำลังซื้อ เช่น แอลจีเรียที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อปี 4,230 ดอลลาร์สหรัฐ
“5 ประเทศที่มีมูลค่านำเข้าเติบโตมากที่สุด”
  • เซเชลส์มีอัตราขยายตัวของการนำเข้าสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีมากที่สุดในทวีปแอฟริกา (16,500 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2561) รวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • อียิปต์และโมร็อกโก สินค้าที่เติบโตดี คือ ผลิตภัณฑ์กันแดด และมอยส์เจอร์ไรซ์เซอร์ เนื่องจากผู้บริโภคใส่ใจเรื่องผลกระทบของแสงแดดที่อาจนำไปสู่มะเร็งผิวหนัง รวมถึงความกังวลเรื่องผิวแก่ก่อนวัย
“5 แหล่งนำเข้าสำคัญ (ปี 2561)”
  • แหล่งนำเข้าหลักของทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่มาจากยุโรป เนื่องจากความสะดวกในการขนส่งที่ภูมิภาคตอนเหนืออยู่ติดกับยุโรป
  • ฝรั่งเศสเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 มีแบรนด์ยอดนิยมติดตลาด เช่น L’Oreal และ Yves Rocher ที่ขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในเคนยาและไนจีเรีย รวมถึง Lanc?me ที่มีบริษัทท้องถิ่นเป็นตัวแทนจำหน่าย
“การนำเข้าสินค้าแต่ละประเภท (ปี 2561)”
  • หลายประเทศในทวีปแอฟริกานิยมใช้สินค้าฮาลาล เช่น รองพื้นและลิปสติก ซึ่งประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าหลักในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้รับการยอมรับเรื่องมาตรฐานฮาลาล มีศูนย์วิจัยและตรวจสอบ ตลอดจนออกใบรับรองมาตรฐานฮาลาลสำหรับผลิตภัณฑ์ความงาม
  • จีนเป็นเจ้าตลาดสินค้าราคาถูก และสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปากและฟัน

โอกาสของผู้ประกอบการไทย

“ช่องทางเข้าสู่ตลาด”

การเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมความงามในทวีปแอฟริกา ควรเริ่มจากความเข้าใจพฤติกรรมที่แตกต่างของผู้บริโภค เช่น ผู้หญิงแอฟริกามีสีผิวที่หลากหลาย เฉดสีในรองพื้นควรครอบคลุมสีผิวประเภทต่างๆ

ช่องทางในการจำหน่ายสินค้า

ห้างสรรพสินค้า เป็นที่นิยม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ และกลุ่มชนชั้นกลาง

ร้านสะดวกซื้อ เป็นที่นิยมในพื้นที่นอกเขตเมือง

ออนไลน์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสังคมเมือง และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้น

  • การส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมความงามของไทยไปทวีปแอฟริกาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 11% ต่อปี
  • ไทยติด 1 ใน 5 ของประเทศในเอเชียที่เป็นแหล่งนำเข้าหลักของผลิตภัณฑ์ความงามในทวีปแอฟริกา
“โอกาสด้านการค้า”

ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม มีโอกาสเจาะกลุ่มชนชั้นกลาง โดยเฉพาะในประเทศที่สังคมเมืองขยายตัวสูง เช่น แอลจีเรีย ไนจีเรียและแอฟริกาใต้

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ