เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: เมียนมาเปิดธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกรับการลงทุนต่างชาติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 7, 2019 14:24 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ผ่านมากว่า 1 ปีแล้วที่เมียนมาปรับปรุงกฎหมายการลงทุนในธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกเพื่อเอื้อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรีมากขึ้น กฎหมายดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในเมียนมา เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจลักษณะ Trading ได้ง่ายขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาตัวกลางนำเข้าสินค้าชาวเมียนมาลดลง ประกอบกับกระแสการเข้ามาลงทุนร้านค้าส่ง/ค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต จากผู้ประกอบการต่างชาติร้อนแรงขึ้น เพราะต่างก็จับจ้องโอกาสนี้อยู่แล้วระยะหนึ่ง ดังนั้น กฎหมายค้าส่ง/ค้าปลีก จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาควรทำความเข้าใจเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวได้อย่างเต็มที่

กฎหมายค้าส่ง/ค้าปลีก ฉบับใหม่

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้ออก Directive 25/2018 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 โดยกฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสการลงทุนในธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกให้กับบริษัทต่างชาติและบริษัทร่วมทุน (Joint Venture : JV) โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

เงินลงทุนขั้นต่ำ
          ประเภทธุรกิจ    นักลงทุนต่างชาติลงทุน 100% หรือ            JV โดยนักลงทุนต่างชาติ

JV โดยนักลงทุนต่างชาติถือหุ้น 80% ขึ้นไป ถือหุ้นน้อยกว่า 80%

          ค้าปลีก              3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ                 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ
          ค้าส่ง               5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ                 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เงินลงทุนขั้นต่ำดังกล่าวเป็นเงินลงทุนสำหรับใช้ซื้อสินค้าหรือนำเข้าสินค้าเพื่อมาจำหน่าย ไม่รวมเงินลงทุนสำหรับค่าเช่าที่ดินและค่าใช้จ่ายในการบริหาร โดยสามารถแบ่งการโอนเงินลงทุนดังกล่าวเข้ามาในเมียนมา ดังนี้

1. สัดส่วน 50% ในปีแรกของการลงทุน

2. 30% ในปีที่สอง

3. ส่วนที่เหลืออีก 20% ในปีที่สาม

รายการสินค้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายค้าส่ง/ค้าปลีก : สินค้าที่อนุญาตให้จำหน่ายได้ในธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายดังกล่าว ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าในครัวเรือน อุปกรณ์เครื่องครัว เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ อาหารสัตว์และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์สื่อสาร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์พืชและวัตถุดิบทางการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกล จักรยานจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ของเล่นเด็ก อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ของชำร่วย งานศิลปะและอุปกรณ์ดนตรี

การจดทะเบียน : ผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกในเมียนมา ต้องยื่นขอจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา โดยต้องมีเอกสารสำคัญ ดังนี้

  • ใบรับรองการจดทะเบียนบริษัท
  • สำเนาเอกสารรับรองการอนุมัติการลงทุนจาก Myanmar Investment Commission (MIC)
  • จดหมายแนะนำจากหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
  • รายการสินค้าที่จะทำการค้า
  • แผนการดำเนินธุรกิจระยะ 5 ปี
  • หลักฐานการโอนเงินลงทุนขั้นต่ำเข้าประเทศ (ยื่นภายใน 30 วัน หลังจากการยื่นจดทะเบียนธุรกิจ)

ทั้งนี้ ใบรับรองการจดทะเบียนธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกจากกระทรวงพาณิชย์มีอายุ 5 ปี ค่าจดทะเบียนหรือค่าต่อทะเบียนอยู่ที่ครั้งละ 50,000 จ๊าต

ข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ : กฎหมายนี้ยังจำกัดไม่ให้บริษัทที่จดทะเบียนธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกดำเนินการขายสินค้าแบบ Door-to-Door และสงวนธุรกิจค้าปลีกแบบมินิมาร์ทและร้านสะดวกซื้อขนาดพื้นที่เล็กกว่า 929 ตารางเมตร ไว้ให้กับบริษัทเมียนมาเท่านั้น

โอกาสของธุรกิจค้าส่ง

การออกกฎหมายค้าส่ง/ค้าปลีกดังกล่าวเอื้อต่อธุรกิจส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งเดิมต้องพึ่งการส่งออกผ่านผู้นำเข้าหรือ Distributorเมียนมา เพื่อกระจายสินค้าไปยังตัวแทนจำหน่าย (Dealer) ทั่วประเทศ เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการต่างชาติประกอบกิจการ Trading ในเมียนมา ดังนั้น ภายใต้กฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติทำธุรกิจค้าส่ง ผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดบริษัทในรูปแบบบริษัทต่างชาติ 100% หรือบริษัทร่วมทุน (JV) และจดทะเบียนธุรกิจค้าส่งในเมียนมา โดยทางการเมียนมาจะตรวจสอบว่ามีการตั้งคลังสินค้าจริง (ไม่กำหนดขนาดพื้นที่ขั้นต่ำ) ซึ่งบริษัทดังกล่าวสามารถนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อไปจัดจำหน่ายให้กับตัวแทนจำหน่ายได้โดยตรง และจะช่วยลดต้นทุนที่เคยต้องจ่ายให้กับตัวกลางนำเข้าสินค้า รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้าได้ดียิ่งขึ้น

โอกาสของธุรกิจค้าปลีก

เมียนมายังคงสงวนสิทธิ์การตั้งร้านมินิมาร์ทและร้านสะดวกซื้อไว้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นเท่านั้น ดังนั้น โอกาสของธุรกิจค้าปลีกของไทยในระยะแรกจึงเป็นการลงทุนธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในลักษณะไฮเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า และห้างค้าส่ง/ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ส่วนผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็กต้องอาศัยลงทุนในพื้นที่เช่าของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่อีกทอดหนึ่ง ซึ่งคาดว่าพื้นที่ลักษณะดังกล่าวจะมีเพิ่มขึ้นมากในอนาคต

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2562


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ