EXIM E-NEWS ฉบับนี้ได้รับเกียรติจากคุณปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟีนิกซ์ ลาวา จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกซาลาเปาสัญชาติไทยภายใต้แบรนด์ “Phoenix Lava” ที่โด่งดังไกลจนคนต่างชาติต้องเข้าแถวรอซื้อ เกี่ยวกับแนวคิดการผลิตสินค้าที่ให้ความสำคัญกับ “ความรู้สึกของผู้ที่ได้รับ” และออกแบบบริการโดยคำนึงถึง “หัวใจของลูกค้า” เป็นศูนย์กลาง
ผมและน้องชายเติบโตขึ้นมาในครอบครัวนักธุรกิจ โดยคุณพ่อมักจะเล่าเรื่องการดำเนินธุรกิจให้พวกเราฟังมาตั้งแต่เด็ก เราจึงลองนึกหาธุรกิจที่เหมาะกับตัวเองตั้งแต่อายุ 12-13 ปี ภาพที่เห็นคนไทยต่อแถวยาวซื้อขนมแบรนด์ต่างชาติที่มาเปิดร้านขายในไทยไม่ว่าจะเป็นขนมปัง Roti Boy, Krispy Kreme Doughnut และ Garrett Popcorn ทำให้นึกอยากสร้างขนมแบรนด์ไทยไปขายให้โด่งดังในต่างประเทศบ้าง เราฝันถึงธุรกิจที่อยากทำมากมาย แต่ยังไม่กล้าที่จะเริ่มต้นเพราะกลัวความล้มเหลว
จนกระทั่งผมและน้องชายไปศึกษาต่อและทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นซาลาเปาลาวากำลังเป็นที่นิยม น้องชายผมซึ่งเรียนจบและทำงานด้านวิทยาศาสตร์อาหาร (Food Science) มีความมั่นใจว่าจะสามารถคิดค้นสูตรและผลิตสินค้านี้ได้ โดยมีโจทย์คือ ต้องทำให้ไส้ซาลาเปาลาวาของเราไหลเยิ้มตลอด 24 ชั่วโมง และเริ่มทดลองประมาณ 70 สูตร ใช้เวลา 6 เดือน 17 วัน จึงได้สินค้าต้นแบบชิ้นแรกและใช้เวลาอีก 1 ปีกว่า จึงสามารถเปิด Phoenix Lava สาขาแรกที่ปิ่นเกล้า โดยตอนนั้นจำหน่ายซาลาเปา 3 ไส้ คือ ลาวาไข่เค็ม-ต้นตำรับลาวาชาเขียว และงาดำลาวา
จุดเด่นของเรา คือ ปรัชญาองค์กร 3 ประการ ประการแรก ได้แก่ ความใส่ใจในวัตถุดิบ เราคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าเชื่อใจและคู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก เช่น ไข่เค็ม เราหาวัตถุดิบตั้งแต่ที่ฮ่องกง สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุดท้ายเราเลือกวัตถุดิบจากโรงงานผลิตไข่เค็มที่มีการควบคุมตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงเป็ด ทำให้ไข่เค็มได้คุณภาพไขมันและรสชาติตามที่เราต้องการไส้ชาเขียวก็เช่นกัน เราได้เปรียบเทียบชาเขียวในไทย และเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น สุดท้ายเราเลือกชาเขียวจากเมืองอูจิ (Uji) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องคัดใบชาในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น
ประการที่สอง การออกแบบ เราออกแบบบรรจุภัณฑ์รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ภายใต้แนวคิด “การออกแบบที่ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องช่วยแก้ปัญหาของผู้คนได้” เราศึกษาพฤติกรรมลูกค้าที่ซื้อซาลาเปาจากแบรนด์ต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ลูกค้าต้องการนำไปมอบเป็นของขวัญหรือของฝาก แต่ร้านค้าส่วนใหญ่นำซาลาเปาใส่กล่องพลาสติกแล้วติดเทปกาวใส ทำให้แกะออกยากเราจึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นกล่องกระดาษ มีลวดลายสวยงามเหมาะแก่การนำไปเป็นของขวัญ รวมถึงการคิดสูตรไส้ให้คงสภาพเป็นซาลาเปาลาวาตลอด 24 ชั่วโมงเพราะรู้ว่าลูกค้าไม่ได้รับประทานทันทีหลังจากที่ซื้อไป Phoenix Lava จึงเป็น “ซาลาเปาแห่งการให้”ที่สามารถนำไปเป็นของขวัญหรือของฝากได้สมความตั้งใจ
ประการที่สาม การส่งมอบงานบริการที่เหนือระดับ ผมเคยเชื่อมาตลอดว่าคนญี่ปุ่นทำงานบริการได้ดีที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันผมเปลี่ยนความคิดใหม่ ผมพบว่าคนไทยทำงานบริการได้ดีกว่า เพราะธรรมชาติของคนไทยถูกปลูกฝังเรื่องการนึกถึงจิตใจของผู้อื่นทำให้คนไทยทำงานบริการออกมาจากใจได้เป็นธรรมชาติมากกว่า
Phoenix Lava ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ส่งออกและขยายไปต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยเริ่มต้นส่งออกหลังจากทำธุรกิจได้เพียง 3 ปีเท่านั้น เนื่องจากมีผู้สนใจมาซื้อแฟรนไชส์ ปัจจุบันเราเปิดแฟรนไชส์ 3 สาขา คือ ที่โฮจิมินห์ซิตี้ 1 สาขา และมาเก๊า 2 สาขาเราส่งสินค้าสำเร็จรูปซึ่งเป็นซาลาเปาแช่แข็งไปจำหน่ายผ่านแฟรนไชส์ เราจึงต้องพัฒนาสูตรใหม่ที่ยังทำให้ไส้ซาลาเปาลาวาคงรสชาติและลักษณะได้เช่นเดิมเมื่อแช่แข็งแล้ว รวมทั้งเรายังปรับสูตรให้มีรสชาติถูกปากลูกค้าในแต่ละชาติ เช่น มาเก๊าจะนิยมรสชาติหวานน้อยกว่าคนไทยประมาณ 20% ขณะที่ในประเทศเวียดนาม คนทางภาคใต้นิยมรสหวาน และคนทางเหนือนิยมรสจืด ผมกับทีมวิจัยและพัฒนาสินค้าจึงต้องเดินทางไปแต่ละประเทศเพื่อชิมอาหารให้รู้รสชาติที่ผู้บริโภคท้องถิ่นนิยมและกลับมาผลิตสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าได้ชิมรสชาติก่อน
นอกจากนั้น ยังมีโอกาสไปเปิดตลาดที่ประเทศสิงคโปร์ในลักษณะของ Exhibitor Contract คือติดต่อขอนำสินค้าของเราไปออกบูท ทำสัญญาครั้งละ 6 เดือน และวางจำหน่ายในห้างร้านสะดวกซื้อของมาเลเซีย
ตัวอย่างบทเรียนที่ได้จากการเปิดแฟรนไชส์ที่โฮจิมินห์ คือผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างร้านจำหน่ายสินค้า แต่ไม่มีการวางแผนระยะยาว อีกทั้งค่าครองชีพของคนเวียดนามซึ่งต่ำกว่าคนไทยประมาณ 50% ขณะที่ซาลาเปาทั่วไปขายลูกละ 20 บาท แต่ซาลาเปา Phoenix Lava ในเวียดนามราคาลูกละ 55 บาท ซึ่งเท่ากับสามารถซื้อข้าวได้ 2 จาน เนื่องมาจากต้นทุนการขนส่งและค่าเช่าโกดังสินค้าสูงมาก เพราะฉะนั้นเราหากได้เรียนรู้และวางแผนให้ดี เราจะสามารถหาวิธีลดต้นทุนและขายราคาถูกลง โดยเปลี่ยนจากการส่งสินค้าสำเร็จรูป เป็นรูปแบบ Factory Shop คือผลิตสินค้าที่ร้านได้เองเลย
ในมาเก๊า Phoenix Lava ประสบความสำเร็จจากการเปิดแฟรนไชส์ 2 สาขา เนื่องจากมาเก๊ากำลังพยายามเปลี่ยนผ่านจากเมืองที่มีรายได้หลักจากคาสิโนและโรงแรมมาเป็นรายได้จากธุรกิจบันเทิงและค้าปลีกมากขึ้น ประกอบกับไม่มีแหล่งวัตถุดิบเอง อาหารต่างๆจึงต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ ซาลาเปาร้านธรรมดาข้างทางราคาลูกละ 30 กว่าบาท เพราะฉะนั้นสินค้าของเราถือว่าไม่แพงและสู้ราคาได้ อีกปัจจัยที่เป็นจุดแข็งของเราในมาเก๊าคือ ชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับอย่างมากในตลาดโลก ทำให้สินค้าของเราเป็นที่สนใจจากผู้บริโภคในมาเก๊า
ทุกวันนี้ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จสูงสุด ถ้าเทียบเป็นคะแนนเต็ม 10 ผมให้ตัวเองแค่ 2 คะแนน เพราะผมมีเป้าหมายคือ การทำแบรนด์ไทยให้มีสาขาทั่วเอเชีย และเป้าหมายต่อไปที่ใหญ่ขึ้นไปอีกคือ ต้องมีสาขาทั่วโลกให้ได้ ไม่ใช่แค่เราที่ภาคภูมิใจแต่ต้องสร้างความภูมิใจให้กับคนไทยและประเทศไทยด้วย
กุญแจสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่ทำให้ผมมาถึงวันนี้ได้ คือทีมงานและหุ้นส่วนที่ทำงานด้วยกันอย่างหนัก ยึดมั่นในเป้าหมายระยะยาวร่วมกัน คิดถึงความยั่งยืนของธุรกิจเป็นหลัก ไม่ได้หวังร่ำรวยในเวลาอันสั้น และทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดในการสนับสนุนให้ทีมงานส่งมอบสินค้าที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภค
EXIM BANK ช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจได้มากที่สุด ทุกครั้งที่มีคำถามเกี่ยวกับการส่งออกจะได้รับคำแนะนำที่ดีเสมอ รวมทั้งมีการจัดอบรมสัมมนาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการส่งออก ทั้งยังช่วยสนับสนุนบริษัทในเรื่องของเงินทุนด้วยตอนนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และวางแผนที่จะใช้บริการประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศสำหรับการส่งออกสินค้าล็อตใหญ่ในอนาคตด้วย
คนที่ทำธุรกิจต้องเป็นคนที่ไม่กลัวปัญหาและชอบแก้ปัญหา ดังข้อคิดของคุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ที่ว่า “การเจออุปสรรคเป็นอาหาร 3 มื้อ” เป็นเรื่องธรรมดาของนักธุรกิจ หน้าที่ของเราคือ เมื่อเจอปัญหาแล้ว ต้องไม่เครียด ไม่กดดัน และหาทางแก้ปัญหาให้ได้
นอกจากนั้น การทำธุรกิจต้องมองระยะยาว อ่านให้ขาด อย่าคิดแค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือปีนี้ ธุรกิจเป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร เราต้องมีแผนระยะยาว เพื่อให้ทีมงานเชื่อใจและเชื่อมั่นในอนาคตของบริษัท ยิ่งในยุคนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องพยายามรักษาองค์กรให้ดำรงอยู่และเติบโตได้ในระยะยาว
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2562