ปี 2562 ที่เพิ่งผ่านไปถือเป็นปีที่โลกต้องเผชิญสถานการณ์ที่ผันผวนและเกิดความวุ่นวายในหลายประเทศ ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยในช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 มูลค่าส่งออกของไทยลดลง 2.8% และคาดว่ามูลค่าส่งออกทั้งปีจะหดตัวราว 3% ซึ่งแม้ว่าอัตราการหดตัวของการส่งออกของไทยยังต่ำกว่าคู่แข่งหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ว่าการส่งออกของไทยจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าประเทศอื่นอย่างถาวร ดังนั้น ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นปีหนู ผู้ประกอบการ SMEs ส่งออก สามารถวางกลยุทธ์ธุรกิจอย่าง “หนู” เพื่อรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ โดยหากนึกถึงจุดเด่นของหนูที่เห็นได้ชัดมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่
1. การมีประสาทสัมผัสไวในการหาอาหาร
2. การตื่นตัวและระแวดระวังภัยอยู่เสมอ
3. การปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี
ซึ่งการที่ SMEs เป็นธุรกิจขนาดเล็กจึงน่าลองนำเอาจุดเด่นดังกล่าวมาปรับเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อพร้อมเผชิญกับความท้าทายในปี 2563 โดยสามารถพัฒนาขึ้นเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ 3 ด้าน ดังนี้
รวดเร็วในการแสวงหาตลาดใหม่ หนูมีประสาทสัมผัสที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะการดมกลิ่นเพื่อหาอาหาร เช่นเดียวกับธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องรวดเร็วในการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ เนื่องจากตลาดเดิมที่เคยเป็นคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน และ EU ต่างเผชิญปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าที่ตอบโต้กันไปมา รวมถึงความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ Brexit ดังนั้น การเสาะหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งหากดูแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้าภูมิภาคอย่างเอเชียใต้ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี เช่นเดียวกับอาเซียนที่เติบโตราว 5% ต่อปี ไปจนถึงแอฟริกาเหนือที่ขยายตัว 4.4% ต่อปี เศรษฐกิจตลาดใหม่เหล่านี้ล้วนมีอัตราขยายตัวสูงกว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี โดยเอเชียใต้ อินเดียและบังกลาเทศเป็นประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่น ขณะที่อาเซียน CLMV และฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดี ส่วนแอฟริกาเหนือก็มีอียิปต์เป็นตัวชูโรงในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ระวังภัยความเสี่ยงอย่างเท่าทัน นอกจากปัญหาใหญ่อย่างสงครามการค้า และ Brexit ที่ยังไม่สามารถจบลงได้ภายในปี 2562ปัญหาการชุมนุมประท้วงที่บานปลายเป็นความวุ่นวายในหลายประเทศ ไล่ไปตั้งแต่ฮ่องกง เลบานอน อิรัก อิหร่าน ฝรั่งเศส สเปน โบลิเวียและชิลี นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่ปะทุขึ้นก็ถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของหลายประเทศ รวมถึงบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลกโดยรวม
ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ทางธุรกิจ ปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการจากการที่ไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง (Disruption) ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ให้ได้อย่างทันท่วงทีจะเป็นเกราะป้องกันให้ SMEs สามารถรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนยังสามารถขยายผลไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับ SMEs ได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตัวอย่างเช่นกรณีของการพัฒนาการสื่อสารไร้สายอย่าง 3G/4G ที่ส่งผลให้โลกธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปซื้อสินค้าและใช้บริการต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าใจและสามารถนำธุรกิจเข้าไปสู่โลกออนไลน์ได้ทันการณ์ก็มีแนวโน้มที่จะยืนหยัดอยู่รอดได้ ซึ่งในปี 2563 โลกกำลังจับตาไปที่การลงทุนเทคโนโลยี 5G ที่จะเป็นการยกระดับการรับส่งข้อมูลแบบไร้สายขึ้นไปอีกขั้น ดังนั้น หาก SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึงเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคในตลาด ก็จะช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2563