รู้ทันเกมการค้า: ให้จ่ายก่อน...ไม่รับผ่อน : ต้นเหตุของการชวดออเดอร์โดยไม่รู้ตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 3, 2020 14:20 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การป้องกันความเสี่ยงจากการทำการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการตรวจสอบสถานะทางการเงินของคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ เลือกวิธีชำระเงินที่ปลอดภัยสำหรับผู้ขาย ทำประกันการส่งออก ทำประกันภัยการขนส่งสินค้า และทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าล้วนเป็นทางเลือกที่ผู้ส่งออกสามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ บางรายใช้ทุกวิธีที่กล่าวมาข้างต้นขณะที่บางรายก็เลือกใช้เพียงบางวิธี เนื่องจากแต่ละวิธีมีต้นทุนทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายและใช้เวลาในการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มค้าขายไปต่างประเทศมักกังวลว่าขายของไปแล้วจะไม่ได้เงิน จึงขอให้ผู้ซื้อโอนเงินค่าสินค้ามาให้ก่อน โดยเฉพาะล็อตแรก ๆ ที่ทำการค้ากัน เพื่อป้องกันความเสียหายหากผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้า แต่ในระยะยาวพบว่าการป้องกันความเสี่ยงด้วยวิธีดังกล่าวอาจทำให้ผู้ส่งออกสูญเสียตลาดและลูกค้าไปอย่างน่าเสียดาย

ดังเช่นกรณีของ “นายชอบค้า” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารไปหลายประเทศทั้งใน CLMV และประเทศในแถบเอเชียอื่น ๆ อาทิ อินเดีย และจีน ที่ผ่านมา “นายชอบค้า” มักให้คู่ค้าชำระค่าสินค้าบางส่วนก่อนที่ตนเองจะเริ่มสั่งซื้อวัตถุดิบผลิตสินค้า และจะขอรับค่าสินค้าส่วนที่เหลือทั้งหมดก่อนดำเนินการจัดส่งสินค้าให้แก่คู่ค้าเสมอ ไม่ว่าคู่ค้าจะขอให้ผ่อนปรน ไปใช้วิธีการชำระเงินประเภทอื่น ๆ บ้าง อาทิ D/A (Document against Acceptance) ซึ่งหมายถึง “นายชอบค้า” ยินยอมให้ผู้ซื้อลงนามรับเอกสารจากธนาคารผู้ซื้อเพื่อนำไปใช้รับสินค้าได้ก่อนโดยที่ผู้ซื้อยังไม่ต้องชำระเงินค่าสินค้า ณ ขณะนั้น แต่อนุญาตให้ผู้ซื้อมาชำระค่าสินค้าในระยะถัดไปกับธนาคารผู้ซื้อตามเทอมการชำระเงินที่กำกับไว้ในเอกสารส่งออก (เช่น 30 วัน 60 วัน 120 วัน หรือ 180 วัน) หรือวิธีชำระเงินแบบ D/P (Document against Payment) ซึ่งผู้ซื้อต้องชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ธนาคารก่อนจึงจะได้รับเอกสารเพื่อนำไปออกสินค้าได้ก็ตาม เพราะ "นายชอบค้า" ก็ยังรู้สึกว่าตนยังมีความเสี่ยงหากคู่ค้าเปลี่ยนใจไม่ยอมมารับสินค้าเมื่อส่งสินค้าไปถึงปลายทางแล้ว “นายชอบค้า” จึงยึดมั่นกับวิธีการชำระเงินแบบเดิม คือ ให้ลูกค้าจ่ายค่าสินค้ามาก่อน และปฏิเสธการใช้วิธีการชำระเงินแบบอื่น ๆ ที่คู่ค้าเสนอมาโดยตลอด โดยละเลยที่จะให้ความสำคัญกับความสะดวกของผู้ซื้อ แม้ว่าจะสามารถทำได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง “นายชอบค้า” สังเกตว่าคู่ค้าอินเดียที่เคยสั่งซื้อสินค้ากันเป็นประจำเริ่มลดคำสั่งซื้อลง แม้กระทั่งในช่วงเทศกาลที่ตามปกติคู่ค้ามักจะสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงได้ติดตามสืบหาข้อมูลจนทราบว่า คู่ค้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจาก“นายแข่งขัน” แทน เพราะนอกจากสินค้าของ “นายแข่งขัน” จะมีรูปแบบและคุณภาพใกล้เคียงกับสินค้าของ “นายชอบค้า” แล้ว“นายแข่งขัน” ยังยินดีรับชำระเงินค่าสินค้าในหลากหลายรูปแบบ เช่น รับชำระแบบ D/A โดยให้เทอมการชำระเงินแก่คู่ค้า 30 วัน หรือ 60 วัน และยินดีให้คู่ค้าแบ่งชำระค่าสินค้าตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน ทำให้คู่ค้าสามารถบริหารจัดการด้านการเงินได้ดีกว่าการสั่งซื้อสินค้ากับ “นายชอบค้า”

จากกรณีของ “นายชอบค้า” แสดงให้เห็นว่า การป้องกันความเสี่ยงในรูปแบบที่ “นายชอบค้า” เลือกใช้ คือ การให้ลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้า แม้ทำได้โดยแทบไม่มีค่าใช้จ่ายนั้น จริง ๆ แล้วอาจทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่แฝงอยู่ และในที่สุดก็อาจทำให้ผู้ส่งออกเสียลูกค้าและโอกาสในการขยายตลาดไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น การเลือกวิธีป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยงอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งในนั้นคือ การทำประกันการส่งออก เพราะทำให้ผู้ส่งออกมั่นใจว่าจะได้รับชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คู่ค้าไม่ชำระเงินค่าสินค้า ผู้ส่งออกจึงสามารถตัดสินใจทำการค้ากับผู้ซื้อรายใหม่ ๆ รวมถึงรับคำสั่งซื้อจากคู่ค้าเดิมเพิ่มขึ้น หรือรับชำระเงินด้วยวิธีอื่นที่ยืดหยุ่นมากขึ้นได้ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่สนใจบริการรับประกันการส่งออกสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายส่งเสริมการรับประกันการส่งออกและการลงทุน EXIM BANK โทร. 0 2271 3700 ต่อ 3930-44

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ