เวียดนามจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนโดดเด่นที่สุดในอาเซียน จากการที่รัฐบาลเวียดนามวางยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนภายใต้แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 ฉบับปรับปรุง ปี 2559-2563 และวิสัยทัศน์สู่ปี 2573 ในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการดำเนินนโยบายเปิดเสรีด้านพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งผ่อนคลายกฎระเบียบและเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จนทำให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของอาเซียน สะท้อนได้จากกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Installed Capacity) จากพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นจาก 134 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 5,500 เมกะวัตต์ในปี 2562 คิดเป็น 44% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในอาเซียน และเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดในอาเซียน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติข้อกำหนดในการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ฉบับใหม่ภายใต้ Decision 13/2020/QD-TTg เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความชัดเจนด้านนโยบายให้กับนักลงทุนในระยะยาว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
การอนุญาตให้ภาคเอกชนรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ข้อกำหนดฉบับใหม่ระบุว่า การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) และบริษัทที่เคยได้สิทธิ์การเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า จะไม่ได้เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Purchasers) อีกต่อไป โดยจะอนุญาตให้ภาคเอกชนทั่วไปสามารถเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ได้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รายย่อยสามารถเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนได้โดยตรง
การกำหนดประเภทของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการสนับสนุนได้สอดคล้องกับรูปแบบโครงการที่ต่างกัน ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา ซึ่งรวมถึงระบบ On-grid และ Off-grid ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ และมีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 35 กิโลโวลต์
- โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ซึ่งสามารถลอยอยู่บนแหล่งน้ำ เช่น ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำของเขื่อน และแม่น้ำ เป็นต้น
- โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน หรือที่เรียกว่า Solar Farm ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Grid) ทั้งหมด
การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Feed-in-Tariff : FiT) อัตราใหม่ ข้อกำหนดฉบับใหม่กำหนด FiT อัตราใหม่สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 3 ประเภทอย่างชัดเจน ต่างจากเดิมที่เป็นอัตราเดียวและใช้กับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุกประเภท ดังนี้
ประเภทของโครงการ อัตราการรับซื้อไฟฟ้า (ดอลลาร์สหรัฐต่อ kWh) อัตราเดิม อัตราใหม่ ติดตั้งบนหลังคา 0.0935 0.0838 ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ 0.0769 ติดตั้งบนพื้นดิน 0.0709
หมายเหตุ : คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการของธนาคารกลางเวียดนาม ณ วันที่ 10 มีนาคม 2563
ที่มา : DFDL Vietnam
ทั้งนี้ ข้อกำหนดฉบับใหม่ให้ใช้ FiT อัตราใหม่กับนักลงทุนที่ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นระยะเวลา 20 ปี
เป็นที่น่าสังเกตว่า FiT อัตราใหม่ปรับลดลงจากอัตราเดิมที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามเติบโตอย่างร้อนแรง การปรับลด FiT จึงเป็นการชะลอความร้อนแรงของการลงทุนและเป็นการควบคุมให้การพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อกำหนดฉบับใหม่มีการเสนอ FiT อัตราพิเศษ ซึ่งเป็น FiT อัตราเดิมที่ 0.0935 ดอลลาร์สหรัฐต่อ kWh ให้กับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลงทุนในจังหวัด Ninh Thuan ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงสุดและมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับอนุมัติการลงทุนมากที่สุดในประเทศ โดยโครงการลงทุนที่ยังคงได้ FiT อัตราเดิม ต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2564 และจะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวก็ต่อเมื่อกำลังการผลิตรวมของจังหวัด Ninh Thuan ยังไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ การประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับใหม่ซึ่งช่วยสร้างความชัดเจนให้แก่นักลงทุน และสื่อให้เห็นทิศทางการสนับสนุนที่อาจลดลงในระยะต่อไป ทำให้คาดว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับอนุมัติการลงทุนแล้วจะเร่งดำเนินการภายในปี 2563 ดังนั้น การลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามจะยังขยายตัวในปี 2563 สวนทางกับการลงทุนในธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตรา FiT ลงเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลเวียดนามที่ต้องการชะลอการลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลงในระยะถัดไป และอาจเปิดโอกาสให้กับการลงทุนพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น อาทิ พลังงานลม เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวียดนามยังคงต้องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 8% ต่อปีในช่วง 15 ปีข้างหน้า
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2563