CEO Talk: ตองแปด ผักผลไม้ ผู้ส่งออกผักผลไม้สด มุ่งมั่นควบคุมคุณภาพจากสวนจนถึงมือผู้บริโภคในต่างประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 1, 2020 14:09 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

คุณณธกฤษ เอี่ยมสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด ผู้ส่งออกผักผลไม้สด ที่มุ่งมั่นบริหารจัดการธุรกิจ ปิดความเสี่ยงจากการส่งออกสินค้าประเภทเน่าเสียง่าย จะมาบอกเล่าจุดเริ่มต้นและประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ

จุดเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจ

คุณแม่ของผมเริ่มดำเนินธุรกิจส่งออกผลไม้ทางเครื่องบินไปตลาดจีนเป็นหลัก ในวัยเด็กผมจึงมีโอกาสช่วยงานครอบครัวในช่วงปิดเทอม ตั้งแต่บรรจุผลไม้ไปจนถึงดูแลรายรับรายจ่ายของบริษัท ต่อมาเมื่อไต้หวันมีความต้องการผลไม้สดจากไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทุเรียน ทำให้การส่งทางเครื่องบินไม่เพียงพอที่จะตอบสนองปริมาณความต้องการของลูกค้า ครอบครัวจึงก่อตั้งบริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด และบุกเบิกการส่งออกผลไม้สดทางเรือโดยการเหมาตู้คอนเทนเนอร์ ไต้หวันเป็นตลาดหลัก จากนั้นจึงเริ่มขยายการส่งออกไปฮ่องกง จีน และอินโดนีเซีย บริษัทมีแหล่งจัดซื้อผลไม้จากเกษตรกรและสวนผลไม้ที่ติดต่อค้าขายมานาน ทำให้สามารถจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพและปริมาณมากเท่าที่ผู้ซื้อในต่างประเทศต้องการได้ ต่อมาตั้งบริษัท ตองแปดห้องเย็น จำกัดขึ้น เพื่อรับฝากแช่ผลไม้สด นำเข้าผลไม้จากจีน บริการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ และต่อยอดธุรกิจด้วยการส่งออกผลไม้แปรรูป เช่น ลำไยอบแห้ง ไปยังประเทศจีน รวมถึงจำหน่ายภายในประเทศด้วย จุดเด่นของบริษัท

บริษัทมีระบบการบริหารงานที่มีคุณภาพและมีการวางแผนธุรกิจที่ดี โดยใช้ข้อมูลด้านต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลการตลาด สถิติการส่งออกสินค้า จำนวนเที่ยวเรือ เป็นต้น บริษัทมีแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับการปรับปรุงขยายโรงงาน จัดให้มีระบบ Supply Chain และระบบ QC ควบคุมคุณภาพสินค้า ระบบ Booking Farm ระบบบรรจุสินค้าและจัดเก็บสินค้า วางแผนและควบคุมด้านโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าเอง เนื่องจากการส่งออกผักผลไม้สดเรื่องเวลาในการจัดส่งเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีการวางแผนที่ดี หากดำเนินการขนส่งล่าช้าอาจทำให้สินค้าเสียหายได้ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพสินค้าทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นเก็บเกี่ยวไปจนถึงผู้บริโภค ทำให้สินค้าของบริษัทมีคุณภาพ รสชาติเป็นที่ยอมรับของตลาด ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

อุปสรรคและความท้าทายในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมาบริษัทเผชิญกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่แข่ง การจำกัดปริมาณสินค้านำเข้า หรือแม้กระทั่งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการชะลอการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และการปรับตัวเรื่องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศ ต้องจ้างแรงงานใหม่ที่ขาดประสบการณ์ในการเก็บเกี่ยวและบรรจุสินค้า ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น บริษัทต้องวางแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผมคิดว่าการลดความเสี่ยงได้มากที่สุดคือผลกำไรของเรา

การสนับสนุนของ EXIM BANK

บริษัทส่งออกผักผลไม้ไปประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งจีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การปิดประเทศทำให้การส่งออกชะลอตัว ยอดขายและกำไรลดลงกว่าเดิม แต่ Operation Cost ยังเท่าเดิม บริษัทได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อของ EXIM BANK ว่าธนาคารออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ มาตรการนี้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจส่งออกเพราะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการลดลง ต้องขอบคุณ EXIM BANK ที่ใส่ใจและเข้าใจผู้ประกอบการ ติดต่อมาแจ้งมาตรการเอง โดยที่ลูกค้าไม่ต้องติดต่อไป

กุญแจสู่ความสำเร็จในวันนี้

การทำธุรกิจต้อง “รู้เขารู้เรา” รู้เขา หมายถึง ต้องศึกษาตลาด รู้จักคู่แข่ง ศึกษาปัจจัยรอบข้างที่อาจส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจของเราแล้วนำมาวางแผนการดำเนินธุรกิจ รู้เรา หมายถึง รู้ว่าบริษัทเรามีขีดความสามารถและแข็งแกร่งด้านใด ไม่ดำเนินธุรกิจเกินขีดความสามารถของตนเอง การมองหาปัจจัยเสี่ยงรอบด้านเพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนป้องความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า การทำประกันสินค้าเสียหาย มีระบบจัดการทางเงินที่แข็งแรง และหมั่นตรวจสอบสถานะทางการเงินและประวัติคู่ค้าอยู่เสมอ

ฝากถึงผู้ประกอบการไทยและผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

ผมคิดเสมอว่า การทำธุรกิจตัวเลขทางบัญชีกับตัวเงินต้องมีอยู่จริง ต้องไม่มีหนี้สูญ เพราะถ้าทำธุรกิจขาดทุนอาจเป็นเพราะความผิดพลาดจากปัจจัยหลายด้านแต่ก็ยังมีเงินต้นกลับคืนมา แต่ถ้าหนี้สูญนั่นหมายถึงกำไรไม่มีแถมยังไม่ได้ต้นทุนคืนอีกด้วย ผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจหรือต้องการขยายธุรกิจควรมีการทำ Project Feasibility วิเคราะห์ความเป็นไปได้ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการทำธุรกิจอย่างรอบคอบ ทำให้เห็นภาพรวมและช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สร้างระบบการบริหารจัดการที่แข็งแกร่ง มีระบบการจัดการ TQM ที่ดี นอกจากนี้ควรหมั่นพัฒนาตนเอง ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ