การดำเนินมาตรการ Lockdown เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเวียดนามส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวเวียดนามเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับผู้บริโภคในหลายประเทศที่หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และพฤติกรรมดังกล่าวอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมหลังวิกฤต COVID-19 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนามได้รับการกล่าวถึงในฐานะตลาดที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งที่น่าจับตามองของอาเซียน เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 สะท้อนจากมูลค่าตลาดที่เติบโตแบบก้าวกระโดดจากราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 เป็น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 ประกอบกับรัฐบาลเวียดนามให้ความสนใจด้วยการตั้งเป้ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า จนแตะระดับ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 หรือมีสัดส่วนราวร้อยละ 10 ของมูลค่าค้าปลีกสินค้าและบริการทั้งหมดของประเทศ
ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 นับเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปขยายตลาดสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในเวียดนาม ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนลักษณะตลาดออนไลน์ของเวียดนามให้เป็นอย่างดี เพื่อวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้ได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
- พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ จากผลสำรวจของบริษัทวิจัยตลาด Q&Me พบว่าร้อยละ 31 ของชาวเวียดนามในเมืองสำคัญอย่างกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ จะซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยราว 810,000 ด่อง (ราว 34 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อคนต่อเดือน ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์บ่อยที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20-39 ปี โดย E-marketplace ซึ่งเป็นที่นิยม ได้แก่ Shopee, Lazada, Tiki และ Sendo เนื่องจากมีสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงมีระบบการสั่งซื้อที่น่าเชื่อถือ ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และ Zalo ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากเป็นช่องทางออนไลน์ที่ผู้ซื้อสามารถติดต่อกับผู้ขายได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันเวียดนามมีจำนวนผู้ใช้บัญชี Facebook มากถึง 60 ล้านคน
- สินค้าออนไลน์ยอดนิยม สินค้าที่ชาวเวียดนามนิยมสั่งซื้อทางออนไลน์มากเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ สินค้าแฟชั่นประเภทเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือ รวมถึงของใช้ในครัวเรือน โดยในปี 2562 ยอดขายสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์เสริมความงามรวมกันมีมูลค่าราว 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปี 2561 สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ของชาวเวียดนามมากที่สุด คือ โปรโมชันสินค้า สะท้อนให้เห็นว่าชาวเวียดนามยังค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคาสินค้า ดังนั้น การทำโปรโมชันสินค้าจึงเป็นกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายที่สำคัญ
- ช่องทางการชำระเงิน ชาวเวียดนามส่วนใหญ่นิยมชำระค่าสินค้าออนไลน์เมื่อได้รับสินค้าและชำระด้วยเงินสด (Cash on Delivery : COD) มากกว่าการชำระค่าสินค้าด้วยวิธีอื่น ๆ เนื่องจากมองว่าเป็นวิธีที่สะดวกและปลอดภัยที่สุด อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าได้ก่อนชำระเงิน ทำให้ร้านค้าออนไลน์ที่มีบริการดังกล่าวสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า ส่วนการชำระเงินด้วยวิธีโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเป็นวิธีที่ยังไม่นิยมมากนัก เนื่องจากปัจจุบันชาวเวียดนามที่มีบัญชีธนาคารมีเพียงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่การชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิตเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด เนื่องจากชาวเวียดนามที่มีบัตรเครดิตมีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดว่าการชำระเงินด้วยวิธีโอนเงินและบัตรเครดิตจะได้รับความนิยมมากขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด
- การประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม ผู้ประกอบการที่ต้องการค้าขายสินค้าออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลหรือเว็บไซต์ของตนเอง จะต้องดำเนินการลงทะเบียนเพื่อขออนุญาตขายสินค้าออนไลน์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ผ่านเว็บไซต์ www.online.gov.vn โดยการขออนุมัติใช้เวลาราว 10 วันทำการ และไม่มีค่าธรรมเนียมในการลงทะเบียน สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจในเวียดนามแล้ว และมีการค้าขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะต้องจ่ายภาษีใบอนุญาตประกอบธุรกิจออนไลน์ (License Tax) เพิ่มเติมจากภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ โดยรัฐบาลเวียดนามจะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในอัตราที่แตกต่างกันไปตามฐานรายได้ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติกฎหมายภาษีฉบับใหม่ (Tax Administration Law) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งภายใต้กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างชาติที่มีการค้าขายสินค้าออนไลน์ให้กับผู้ซื้อในเวียดนาม แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจในเวียดนาม จะต้องลงทะเบียนเพื่อเสียภาษีด้วยเช่นกัน
กระแสการซื้อสินค้าออนไลน์ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเวียดนามหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปทำการค้าขายในตลาดเวียดนาม โดยอาศัยข้อได้เปรียบที่สินค้าไทยยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญของผู้บริโภคชาวเวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และสินค้าแฟชั่น เนื่องจากจุดเด่นด้านคุณภาพและราคาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนามยังมีความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่ยังมีข้อจำกัด ทำให้การจัดส่งสินค้าค่อนข้างล่าช้า ซึ่งผู้ประกอบการควรวางแผนในการจัดส่งสินค้าให้ดี เพื่อที่จะสามารถส่งมอบสินค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2563