ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ดี ผู้ประกอบการไทยจึงควรมองหาลู่ทางขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจาก COVID-19 ซึ่งเมียนมาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ประกอบการไทยสนใจเข้าไปลงทุน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในเมียนมามักเลือกที่จะตั้งโรงงานใน 2 แหล่ง คือ (1) เขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone) หรือที่เราคุ้นชินกับคำว่านิคมอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่บริหารโดยเอกชน และ (2) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ซึ่งบริหารโดยเอกชนภายใต้การกำกับของภาครัฐ เขตอุตสาหกรรมนับได้ว่าเป็นพื้นที่ลงทุนสำคัญของผู้ประกอบ SMEs เนื่องจากมีจำนวนมากและกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ อีกทั้งพื้นที่ที่เปิดให้เช่ามีหลายขนาดให้เลือก ตามความต้องการและเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่นัก เทียบกับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ปัจจุบันมีเพียงเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาในเมืองย่างกุ้งเท่านั้นที่เป็นแหล่งลงทุนหลัก และพื้นที่ที่เปิดให้เช่ายังเน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เหมาะกับการลงทุนของ SMEs
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การหาพื้นที่ลงทุนในเขตอุตสาหกรรมในเมียนมามักประสบปัญหาพื้นที่มีราคาสูง อีกทั้งหลายเขตอุตสาหกรรมยังมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐสภาเมียนมาจึงได้อนุมัติและบังคับใช้กฎหมายเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone Law) ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่สำหรับเขตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่กำลังสนใจเข้าไปลงทุนในเมียนมา จึงควรทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้เพื่อเข้าใจสิทธิประโยชน์และขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้การลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่น
- การจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติการลงทุนในเขตอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ
1. คณะกรรมการกลาง (Central Committee for Industrial Business and Industrial Zone Development) ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายเขตอุตสาหกรรมในภาพรวม ทั้งการกำหนดแนวทางการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดจนกำหนดแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าเช่าที่ดินในแต่ละเขตอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานเดียวกันและจูงใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
2. คณะกรรมการท้องถิ่น (Regional Industrial Zone Development and Management Committee) ทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเขตอุตสาหกรรม อาทิ ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน แผนและโครงการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งคัดเลือกผู้พัฒนาโครงการสำหรับการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมใหม่ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่พิจารณาคำร้องขออนุมัติการลงทุนของผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมและตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้น ก่อนยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกลางพิจารณาอนุมัติต่อไป
- การกำหนดกิจการที่อนุญาตให้ดำเนินการในเขตอุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตสินค้าสำเร็จรูป และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง การผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่า ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจขนส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงและซ่อมบำรุงถนน รวมถึงธุรกิจ Trading สินค้าที่ผลิตในเขตอุตสาหกรรม
- การกำหนดสิทธิ์ในการเช่าที่ดิน ซึ่งกำหนดให้ผู้ลงทุนมีสิทธิ์เช่าที่ดินระยะยาวเป็นระยะเวลาสูงสุด 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตลงทุน และสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายการลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Law: MIL) ที่กำหนดสิทธิ์ดังกล่าวไว้เท่ากัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายเขตอุตสาหกรรมได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจาก MIL คือ นักลงทุนที่ได้รับอนุมัติเช่าที่ดินต้องยื่นแผนการลงทุนให้แก่คณะกรรมการท้องถิ่นภายใน 6 เดือน ซึ่งแผนดังกล่าวต้องกำหนดเวลาที่ชัดเจนตั้งแต่การเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ระยะเวลาการก่อสร้าง จนถึงวันเริ่มดำเนินกิจการ โดยหากไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวจะถูกปรับในอัตรา 10% ของราคาที่ดินต่อปี หรืออาจถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการลงทุนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเก็งกำไรที่ดินในเขตอุตสาหกรรม
- การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย MIL มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล : ได้รับการยกเว้นอย่างน้อย 3 ปีและสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เข้าไปลงทุน ดังนี้
- ภาษีศุลกากร : ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัสดุก่อสร้างที่จำเป็นในช่วงดำเนินการก่อสร้าง และได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบในช่วง 3 ปีแรกเมื่อเริ่มดำเนินกิจการ
นอกจากนี้ กฎหมายเขตอุตสาหกรรมยังมีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดใน MIL สำหรับการลงทุนที่รัฐบาลเมียนมาสนับสนุน ซึ่งได้แก่ 1) การลงทุนในเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่พัฒนาน้อยที่สุด 2) การลงทุนที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและโอกาสในการสร้างอาชีพจำนวนมากในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาส 3) การลงทุนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและสินค้าขั้นต้น 4) การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรการเกษตร และ 5) การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกที่สร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (Creative Products)
- ราคาที่ดินในเขตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงและจะเป็นตัวแปรที่ทำให้การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินมีโอกาสคุ้มค่าการลงทุนมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้าไปลงทุนในเมียนมาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาราคาค่าเช่าที่ดินถือเป็นต้นทุนหลักในการทำธุรกิจในเมียนมา โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งที่ขึ้นชื่อว่าค่าเช่าอยู่ในระดับสูงมาก และกลายเป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจไม่เข้าไปลงทุนในเมียนมา เพราะหลายโครงการไม่สามารถหาที่ดินในราคาค่าเช่าที่เหมาะกับกิจการของตนได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเขตอุตสาหกรรมฉบับนี้คาดว่าจะทำให้ราคาค่าเช่าที่ดินในเขตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้เก็งกำไรที่ดินด้วยการถือสิทธิ์ที่ดินแต่ไม่ลงทุนประกอบธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการเก็งกำไรที่ดินและกลายเป็นสาเหตุหลักของปัญหาที่ดิราคาสูง อีกทั้งกฎหมายใหม่ยังมีการกำหนดแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าเช่าที่ดินให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจเมียนมาที่ชะลอตัวจากวิกฤต COVID-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดัราคาที่ดินให้มีแนวโน้มปรับลง ทำให้ต้นทุนการเข้าไปลงทุนในเมียนมามีแนวโน้มลดลงและจะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น
- นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นในการเข้าไปลงทุนในเขตอุตสาหกรรม เนื่องจากการมีกฎหมายที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถกำกับดูแลเขตอุตสาหกรรมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เขตอุตสาหกรรมต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนด อีกทั้งหากเกิดกรณีพิพาทกับเจ้าของโครงการเขตอุตสาหกรรมจากการจัดการเขตอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน นักลงทุนจะมีกฎหมายโดยเฉพาะมาใช้อ้างอิงในการต่อสู้ฟ้องร้องในชั้นศาล
- ระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำประปา ที่ได้รับการพัฒนาให้ได้มาตรฐานและพอเพียงมากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่ให้พร้อมใช้งาน ขณะที่บางรายอาจต้องมีการปั่นไฟใช้เองในบางช่วงเวลา
ทั้งนี้ แม้วิกฤต COVID-19 อาจบั่นทอนภาพรวมการลงทุนของโลก แต่สำหรับการลงทุนในเมียนมา การออกกฎหมายเขตอุตสาหกรรมในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต COVID-19 อาจนับเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังเตรียมพร้อมขยายการลงทุนในเมียนมา โดยการล็อคต้นทุนที่ดินในเขตอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะลดลง และทำให้โครงการลงทุนมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับเศรษฐกิจที่จะฟื้นกลับมา ประกอบกับเมียนมาเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน ทำให้ยังพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศไม่มากนัก เศรษฐกิจเมียนมาจึงได้รับผลกระทบจาก COVID-19 น้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้รวดเร็วในระยะข้างหน้า
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2563