Share โลกเศรษฐกิจ: โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ...จุดเปลี่ยนการค้าการลงทุนโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 29, 2020 14:00 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ตัวแทนจากพรรครีพับริกัน กับนายโจ ไบเดน คู่ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย โดยผลสำรวจจากแทบทุกสำนักชี้ว่านายไบเดนกำลังมีคะแนนนำ ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวนโยบายของนายไบเดน พบว่ามีทิศทางที่แตกต่างจากประธานาธิบดีทรัมป์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าการลงทุน ซึ่งหากนายไบเดนชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ น่าจะส่งผลให้ทิศทางการค้าการลงทุนทั้งของสหรัฐฯ และของโลกเปลี่ยนแปลงไปในหลายประเด็น ดังนี้

กระแสการลงทุน...จาก Reshoring สู่ Offshoring หนึ่งในนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ ภายใต้แนวคิด Make America Great Again ได้แก่ การดึงภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศให้กลับเข้ามาในประเทศหรือที่เรียกว่า Reshoring ผ่านนโยบายต่าง ๆ อาทิ การลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 21% รวมถึงนโยบายปกป้องทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งของสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับมาสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น General Motors Ford และ Boeing ขณะที่นายไบเดน แม้ไม่เคยเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระหว่างประเทศโดยตรง แต่นโยบายสำคัญที่นายไบเดนนำมาใช้หาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ขัดกับแนวคิด Reshoring ของทรัมป์ ซึ่งหากนายไบเดนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ อาจทำให้ทิศทางการลงทุนของสหรัฐฯ เปลี่ยนจาก Reshoring กลับไปสู่ Offshoring อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกกระเตื้องขึ้นบ้าง

จากนโยบายปกป้องทางการค้า...สู่การเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่ เป็นที่ทราบกันดีว่าประธานาธิบดีทรัมป์ มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยสิ่งแรกที่ประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินการเมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งในปี 2559 ได้แก่ การนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) รวมถึงระงับความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ขณะที่นายไบเดนมีแนวคิดต่างออกไป โดยนายไบเดนแสดงจุดยืนว่าพร้อมจะกลับสู่การเจรจา (Renegotiate) ความตกลง TPP อีกครั้ง และให้ความเห็นว่าการที่ทรัมป์ดำเนินนโยบายการค้าแบบแข็งกร้าว ทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวบนเวทีการค้าโลก ซึ่งหากสหรัฐฯ ต้องการแข่งขันด้านการค้ากับจีน ก็จำเป็นต้องสร้างพันธมิตรทางการค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า หากนายไบเดนชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้ภูมิภาคเอเชียกลับมาเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ อีกครั้ง เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีนที่นับวันจะมีบทบาททางการค้าเพิ่มมากขึ้น

จาก Fossil Energy สู่ Green Energy อย่างเต็มรูปแบบ ประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความสำคัญกับพลังงานรูปแบบเดิม (Fossil Energy) มากกว่าพลังงานสะอาด (Green Energy) เนื่องจากเห็นว่าพลังงานสะอาดมีต้นทุนสูงและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีส ซึ่งเป็นความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจ Shale-oil และผ่อนผันให้ผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ จากเดิมที่สหรัฐฯ เคยมีกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบมาตั้งแต่ ปี 2518 สวนทางกับนายไบเดนที่หยิบยกพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก โดยนำเสนอนโยบายยกเครื่องธุรกิจพลังงานครั้งใหญ่ ด้วยงบลงทุนราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเปลี่ยนผ่านสหรัฐฯ สู่ประเทศที่ใช้พลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2578 ขณะเดียวกัน นายไบเดนยังเลือกนางคามาลา แฮร์ริส เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งนางแฮร์ริสถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนและสนับสนุนธุรกิจพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ ดังนั้น หากนายไบเดนขึ้นเป็นประธานาธิบดี อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงพลังงานทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก และอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดกระแส Disrupt ในธุรกิจพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะยานยนต์

จะเห็นได้ว่าทั้งโดนัลด์ ทรัมป์และโจ ไบเดน ต่างมีนโยบายที่ต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าผลของการเลือกตั้งในครั้งนี้ย่อมกระทบต่อทิศทางและบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ส่งออกไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์รองรับความไม่แน่นอนจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ