- ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาด E-Commerce โลกเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรติดตามเทรนด์ใหม่ ๆ เพื่อปรับตัวและวางกลยุทธ์การตลาดให้ทันสถานการณ์
- ตัวอย่าง 5 เทรนด์ใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ได้แก่ 1) Cross Border E-Commerce ทวีบทบาทสำคัญ 2) Vertical E-Marketplace กำลังมาแรงในการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม 3) หลายประเทศเริ่มเก็บภาษี E-Commerce 4) Next-Gen Technology เป็นเครื่องมือทำตลาดยุคใหม่ 5) ผู้ให้บริการ E-Marketplace ขยายขอบเขตธุรกิจให้ครบวงจรมากขึ้น
(E-Marketplace หมายถึง Platform หรือเว็บไซต์ที่ขายสินค้าออนไลน์ โดยมีทั้งที่วางขายสินค้าของตนเองหรือเป็นตัวกลางในการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย)
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาด E-Commerce โลกเติบโตอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะโตต่อเนื่องในระยะถัดไป ผนวกกับความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและสร้างรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ ๆ เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งสำคัญที่ทำให้รูปแบบ พฤติกรรม และเทรนด์การซื้อสินค้าออนไลน์มีแนวโน้มเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากอดีต ดังนั้น บทความฉบับนี้ได้รวบรวมเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ซึ่งบางส่วนเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป เพื่อจุดประกายและเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการไทยนำไปใช้ประกอบการวางกลยุทธ์การค้าออนไลน์ที่เหมาะสมต่อไป
5 เทรนด์ใหม่ E-Commerce โลก
เทรนด์การค้าระหว่างประเทศด้วย E-Commerce (Cross Border E-Commerce) มีทิศทางเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันครองสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของตลาด E-Commerce รวม จากปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่ก้าวหน้า ระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่มีความปลอดภัย ประกอบกับการเชื่อมโยงของ Social Media ทั่วโลกเอื้อให้การค้นหาสินค้าจากทั่วทุกมุมโลกไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยใช้ E-Commerce เป็นสะพานเชื่อมโยงจากตลาดในประเทศไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยอาจเริ่มจากตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง E-Commerce กำลังโตเร็ว รวมถึงมีพฤติกรรมการบริโภคใกล้เคียงกับไทย
E-Marketplace ในยุคเริ่มต้นส่วนใหญ่เป็นรูปแบบตลาดที่ขายสินค้าหลากหลายประเภท (Horizontal E-Marketplace) เช่น Amazon, eBay อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทรนด์การบริโภคแบบเจาะจงตามความต้องการของตนเอง (Personalization) เป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้เกิด E-Marketplace รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Vertical E-Marketplace ซึ่งเป็นตลาดซื้อ-ขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อรุ่นใหม่ที่ต้องการความเฉพาะเจาะจง
ผู้ประกอบการควรกำหนดกลยุทธ์ในการเลือกใช้ E-Marketplace ให้เหมาะสม หากต้องการเจาะตลาด Mass Market ก็อาจเลือกใช้ Horizontal E-Marketplace ที่มักเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ขณะที่หากต้องการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มควรใช้ Vertical E-Marketplace
ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด E-Commerce ทำให้เริ่มมีบางประเทศหันมาจัดเก็บภาษี E-Commerce ทั้งจากผู้ขายและผู้ให้บริการ E-Marketplace โดยส่วนใหญ่เป็นการนำรายได้จาก E-Commerce มานับรวม เพื่อคำนวณเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล รวมถึงบางประเทศจัดเก็บเพิ่มเติมในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแนวโน้มในระยะถัดไปคาดว่าการจัดเก็บภาษี E-Commerce จะเข้มข้นขึ้นและขยายวงกว้างไปในหลายประเทศ
การที่แต่ละประเทศมีรูปแบบและวิธีการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาข้อมูลกฎระเบียบด้านภาษีที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ในแต่ละประเทศอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปประกอบการวางกลยุทธ์ด้านราคาให้เหมาะสมในแต่ละ E-Marketplace
เครื่องมือการทำตลาดบน E-Commerce มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยียุคใหม่มาประยุกต์ใช้และแก้จุดอ่อนการไม่เห็นสินค้าจริงก่อนซื้อ เช่น
- VR (Virtual Reality) การจำลองภาพสินค้าและสภาพแวดล้อม เพื่อจำลองให้ผู้ซื้อเห็นภาพว่าควรใช้สินค้าชิ้นนั้นในสภาพแวดล้อมใดจึงจะเหมาะสม
- AR (Augmented Reality) การจำลองภาพเฉพาะสินค้า โดยผู้ซื้อสามารถนำภาพสินค้ามาเทียบกับสภาพแวดล้อมจริง
- Live Commerce การถ่ายทอดสดการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเดิมเริ่มต้นจากช่องทาง Social Media ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนเริ่มแพร่หลายไปสู่ช่องทาง E-Marketplace
- Chatbot ระบบการสื่อสารอัตโนมัติที่ผู้ซื้อสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง บาง E-Marketplace เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence เพื่อให้สามารถตอบคำถามได้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อมากที่สุด
ที่มา : Contagious, Forbes
เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยแก้ข้อจำกัดของ E-Commerce ได้มากขึ้น รวมถึงยังตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเรียนรู้และนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำการตลาดให้มากขึ้น
เริ่มมีสัญญาณที่ E-Marketplace จะขยายขอบเขตการทำธุรกิจให้กว้างขวางขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงตลาดออนไลน์ ไปสู่การขยายการให้บริการด้านการเงินและโลจิสติกส์ ทั้งการพัฒนาบริการขึ้นเอง เช่น Alipay (Alibaba), AmazonPay (Amazon) หรือการควบรวมกิจการ เช่น eBay ซื้อ Paypal (มูลค่า 1.5 Bil.USD) เพื่อขยายธุรกิจให้ครบวงจรการค้าและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ
ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ E-Marketplace ที่ให้บริการครบวงจร ทั้งในด้านการตลาด การเงิน และโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนดำเนินการและอำนวยความสะดวก ตลอดจนยังช่วยตอบโจทย์ผู้ซื้อยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2563