ขณะนี้ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า นายโจ ไบเดนจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ทั่วโลกต่างจับตามองและให้ความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องของ ?สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน? ว่าจะลงเอยอย่างไร ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปฟังมุมมองของนายไบเดน ตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีการแสดงความเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนหลายครั้ง ซึ่งพอจะสรุปประเด็นได้ดังนี้
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ในรูปแบบการขึ้นภาษีนำเข้าอาจเริ่มบรรเทาลง แม้นายไบเดนให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่าจะยังไม่ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในทันที โดยจะขอพิจารณาในรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานายไบเดนมีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับการใช้มาตรการด้านภาษีนำเข้ากับจีน โดยในการหาเสียงเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 นายไบเดนแสดงทัศนะว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองมากกว่าจีน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะตกต่ำ (Manufacturing?s Gone on Recession) จากต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น นอกจากนี้ การที่นายไบเดนเสนอชื่อนางเจเน็ท เยลเลน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ยิ่งตอกย้ำว่ามาตรการขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนอาจสิ้นสุดลงหรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากนางเยลเลนมีแนวคิดสนับสนุนการค้าเสรีและเป็นผู้ต่อต้านมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์มาโดยตลอด
สงครามการค้ารูปแบบใหม่อาจก่อตัวขึ้น แม้ในช่วงหาเสียง นายไบเดนจะหลีกเลี่ยงและค่อนข้างระมัดระวังเมื่อต้องพูดถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจีน อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 หลังจากผลการเลือกตั้งค่อนข้างชัดเจนแล้ว โดยนายไบเดนได้ให้ทัศนะในเชิงไม่เห็นด้วยกับการที่จีนไม่เคารพกติกาการค้าโลกและเอาเปรียบชาติอื่น ๆ (Abusive Practice) และเปรยว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของเขาจะพุ่งเป้าไปที่จีนในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การทุ่มตลาด การอุดหนุนผู้ประกอบการจากภาครัฐ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าในยุคของนายไบเดน แม้ประเด็นสงครามการค้าในรูปแบบของการขึ้นภาษีนำเข้าอาจบรรเทาลงบ้าง แต่สงครามการค้าในรูปแบบที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) อาจกลับมาทวีความร้อนแรงขึ้น
Tech War ยังเป็นสมรภูมิเดือดระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้นโยบายของนายไบเดนและประธานาธิบดีทรัมป์ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่ประเด็นเรื่องของ ?สงครามเทคโนโลยี? หรือ ?Tech War? กลับมีแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน โดยนายไบเดนยังมีนโยบายที่จะกีดกันซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน รวมถึงเทคโนโลยี 5G ของบริษัทจีน ซึ่งคล้ายกับนโยบายเดิมของประธานาธิบดีทรัมป์ นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2563 นายไบเดนได้ประกาศนโยบาย ?Innovate in America? โดยพร้อมทุ่มงบประมาณราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G และ AI เพื่อแข่งขันกับจีน ซึ่งถือเป็นผู้นำเทคโนโลยีอยู่ในขณะนี้ ทำให้คาดว่าในยุคของนายไบเดน สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะดุเดือดขึ้น
นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายไบเดนที่เดิมดูเหมือนจะพลิกฝ่ามือไปจากประธานาธิบดีทรัมป์ มาถึงวันนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่มีทั้งเหมือนและแตกต่าง ในความเหมือนคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะยังคงอยู่ ขณะที่ในความแตกต่าง เค้าลางที่เห็นชัดเจนคือ มีการเปลี่ยนรูปแบบจากมาตรการทางการค้าด้านภาษีไปสู่มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี ทั้งในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา การทุ่มตลาด รวมถึงการอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการค้าของโลกในระยะถัดไป และจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับกฎระเบียบการค้าโลกยุคใหม่ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2563