สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลกรวมถึงใน CLMV ซึ่งแม้ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดใน CLMV สามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้นทำให้รัฐบาลของประเทศใน CLMV ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานในประเทศ ทั้งนี้ กัมพูชาถือเป็นประเทศหนึ่งใน CLMV ที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 รัฐบาลกัมพูชาได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 7 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการต่ออายุมาตรการเดิมออกไปอีก 3 เดือนจากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2563 และเพิ่มเติมมาตรการใหม่ เพื่อเป็นแรงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
การต่ออายุมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในประเทศ
สถานการณ์ปัจจุบัน : การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชาเผชิญอุปสรรคมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 จากการที่สหภาพยุโรป (EU) ตัดสิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) ของสินค้าราว 1 ใน 5 ที่กัมพูชาส่งออกไป EU ซึ่งรวมถึงเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ทำให้สินค้ากัมพูชาถูกเก็บภาษีเพิ่มและการนำสินค้าไปจำหน่ายในตลาด EU มีต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่วิกฤต COVID-19 ยิ่งซ้ำเติมการส่งออกจากความต้องการซื้อสินค้าในตลาดหลักอย่าง EU สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ชะลอตัว
มาตรการช่วยเหลือ : กำหนดให้มีการขยายเวลาช่วยเหลือแรงงานที่ถูกพักงานในธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ต่อไปอีก 3 เดือนจนถึงเดือนมีนาคม 2564 โดยแรงงานจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกัมพูชา 40 ดอลลาร์สหรัฐ และอีก 30 ดอลลาร์สหรัฐมาจากผู้ประกอบการ
สถานการณ์ปัจจุบัน : ภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่กัมพูชาพึ่งพารายได้สูงกว่า 1 ใน 4 ของ GDP (สูงที่สุดใน CLMV) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรมและร้านอาหารต้องเผชิญกับความยากลำบาก ขณะเดียวกัน ก็สร้างความเสียหายแก่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
มาตรการช่วยเหลือ : กำหนดให้มีการขยายเวลาช่วยเหลือแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และเกสต์เฮ้าส์ ต่อไปอีก 3 เดือน โดยแรงงานจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลรายละ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความสมัครใจจากผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดที่จดทะเบียนกับกรมจัดเก็บภาษีของกัมพูชา และดำเนินกิจการในกรุงพนมเปญ จ.เสียมราฐ จ.พระสีหนุ จ.แกบ จ.กัมปอต เมืองบาเวต และเมืองปอยเปต จะได้รับการยกเว้นภาษีรายเดือนต่อไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2564
สถานการณ์ปัจจุบัน : ธุรกิจการบินเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤต COVID-19 แต่ยังคงเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้หลังวิกฤตคลี่คลายลงสังเกตได้จากการ เข้าสู่ธุรกิจของผู้ให้บริการรายใหม่ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ทางการกัมพูชาได้อนุมัติใบรับรองการบินให้กับสายการบิน Prince International Airlines ทำให้ปัจจุบันกัมพูชามีสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 7 สายการบิน และแสดงให้เห็นถึงมุมมองในสายตาของผู้ลงทุนต่อโอกาสของธุรกิจการบินในกัมพูชา
มาตรการช่วยเหลือ : กำหนดให้สายการบินที่จดทะเบียนในกัมพูชาได้รับการยกเว้นภาษีขั้นต่ำต่อไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2564 รวมทั้งยังอนุญาตให้สายการบินสามารถชำระค่าธรรมเนียมการบินล่าช้าได้ต่อไปอีก 3 เดือนเช่นกัน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของสายการบิน
ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 7 รัฐบาลกัมพูชากำหนดให้มีมาตรการช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ
- มาตรการช่วยเหลือนายจ้าง : ผ่อนคลายข้อบังคับการจ่ายเงินชดเชยจากการเลิกจ้างตามอายุการทำงาน (Seniority Payment)* โดยยกเว้นการจ่ายเงินบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อลดต้นทุนรายจ่ายด้านแรงงานของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เศรษฐกิจในกัมพูชาดีขึ้นในปี 2564 รัฐบาลอาจมีการเจรจากับบรรดานายจ้างอีกครั้ง เพื่อกำหนดขั้นตอนในการผ่อนชำระสำหรับเงินชดเชยการเลิกจ้างที่ค้างชำระกับลูกจ้างในอดีต รวมถึงภาระผูกผันที่ต้องจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- มาตรการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย : ยกเว้นอากรแสตมป์ (Stamp Duty) ซึ่งคิดในอัตรา 4% สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าเท่ากับหรือน้อยกว่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 โดยต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ดังนี้
1. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าเท่ากับหรือน้อยกว่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามมูลค่าตลาดและระบุไว้ในสัญญาซื้อขายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564
2. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัยซึ่งก่อสร้างโดยผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนกับกระทรวง เศรษฐกิจและการเงินของกัมพูชา
3. ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกรายต้องทำสัญญาซื้อขายที่ถูกต้องและตรงตามราคาตลาด ซึ่งกรมจัดเก็บภาษีของกัมพูชาสามารถเข้าตรวจสอบได้ มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนให้กับชาวกัมพูชาที่ต้องการที่อยู่อาศัยและกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ในระดับหนึ่ง
- มาตรการช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจน : ขยายโครงการแจกเงินเยียวยาครอบครัวชาวกัมพูชาที่ยากจนและได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2564
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้กัมพูชาสามารถจำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี ล่าสุด (ณ วันที่ 6 มกราคม 2564) มีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 383 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตในประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่รัฐบาลกัมพูชายังมีการติดตามสถานการณ์ COVID-19 ควบคู่ไปกับภาวะเศรษฐกิจและการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อออกมาตรการ เพิ่มเติมตามความจำเป็นในการสนับสนุนและช่วยเหลือทุกภาคส่วนของประเทศที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาทั้งหมดจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่า หลังวิกฤต COVID-19 เศรษฐกิจกัมพูชาจะมีศักยภาพในการฟื้นตัวสูง สอดคล้องกับข้อมูลของ IMF ที่คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะกลับมาขยายตัว 6.8% ในปี 2564 จากที่หดตัว 2.8% ในปีที่ผ่านมา
แม้การดำเนินธุรกิจในกัมพูชายังมีความท้าทายท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่ยากต่อการประเมินผลกระทบ แต่มาตรการช่วยเหลือที่ทยอยออกมารองรับอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศอย่างสมดุล มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการในกัมพูชา ซึ่งรวมถึงนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา ส่วนใหญ่ยังสามารถประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ สำหรับในกรณีของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากความเข้มงวดในการเดินทางระหว่างประเทศ คาดว่าจากการที่กัมพูชามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับจีนจะทำให้นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในกัมพูชา จะทยอยกลับมาท่องเที่ยวในกัมพูชาหากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และจะเกื้อหนุนให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องฟื้นตัวได้ ขณะที่ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้อานิสงส์จากการที่สหราชอาณาจักรเพิ่งอนุมัติสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ให้กัมพูชา แม้ก่อนหน้านี้กัมพูชาจะถูก EU ระงับสิทธิ์ EBA บางส่วน ซึ่งจะมีส่วนช่วยรักษานักลงทุนรายเดิมให้ยังคงตั้งฐานการผลิตในกัมพูชาต่อไป
หมายเหตุ : * เป็นเงินชดเชยจากการเลิกจ้างที่จะนำมาทยอยจ่ายให้กับลูกจ้างระหว่างการทำงานในปัจจุบัน จากเดิมที่ลูกจ้างจะได้เป็นเงินก้อนเมื่อถูกเลิกจ้าง
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2564