แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าในกัมพูชาในปัจจุบันมาจาก 2 ช่องทาง คือ โรงผลิตไฟฟ้าในประเทศ และการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 74.83 และ 25.17 ตามลำดับ โดยแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศ ปี 2563 สามารถแยกตามประเภทการผลิตได้ดังนี้
Power Sources Installed Capacity (MW) % - Non-renewable Energy 1,318.95 45.23% + Coal 675.00 23.15% + Fuel Oil 643.95 22.08% - Renewable Energy 1,597.07 54.77% + Hydro Power 1,329.70 45.60% + Solar Power 236.80 8.12% + Biomass Power 30.57 1.05% Total 2.916.02 100%
ข้อมูลจาก Electricity Authority of Cambodia (EAC)
จากตารางข้อมูลด้านบน รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในปี 2564 ให้ได้เท่ากับ 3,056 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 140 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.80 จากปี 2563) ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการเพิ่มขึ้นจากแหล่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด
ในปี 2564 นี้ รัฐบาลกัมพูชามีการเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการ National Solar Park ขนาด 100 MW ในจังหวัดกำปงชนัง โดยถือเป็นโครงการแรก ๆ ในกัมพูชาที่มีการเปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันจากต่างประเทศ โดยโครงการนี้ มี ADB เป็นผู้ให้คำปรึกษา และสนับสนุนวงเงินกู้บางส่วนด้วย โครงการดังกล่าวแบ่งช่วงเวลาการเปิดประมูลออกเป็น 2 เฟส คือ
- เฟสแรกขนาด 60 เมกะวัตต์ เปิดประมูลตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดราคาจากต่างประเทศ รวม 26 บริษัท และได้ผู้ชนะการประมูลจากประเทศไทย คือ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิมคือ บริษัท ไพร์ม โรด อัลเทอร์เนทีฟ จำกัด) โดยเสนอราคาขายไฟฟ้าต่ำสุดที่ 0.03877 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh)
- เฟสสองขนาด 40 เมกะวัตต์ เปิดประมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และมีกำหนดการให้ผู้ที่สนใจยื่นเอกสารการประมูลภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. เสนอราคาไม่เกิน 0.076 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh)
รัฐบาลกัมพูชาประกาศแผนการพัฒนาที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีกร้อยละ 20 ภายใน 3 ปี นับจากปี 2562 ซึ่งถือเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยหลายบริษัทที่มีศักยภาพในด้านนี้ เข้าร่วมประมูลโครงการต่าง ๆ หรือทำแผนการพัฒนาโครงการเสนอต่อ Electricite Du Cambodge (EDC) พิจารณา เพื่อขอสัปทานโดยตรง อย่างไรก็ตามทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ได้ให้คำแนะนำว่า นักลงทุนควรศึกษารายละเอียดในการเข้ามาลงทุนอย่างละเอียด เพราะการเข้ามาลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้น ทุกโครงการจะต้องได้รับอนุมัติจาก EDC ก่อนเริ่มดำเนินการใด ๆ และไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้น จะต้องขายให้แก่ EDC แต่เพียงผู้เดียวในราคาที่ตกลงกันเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ได้เป็นโครงการที่ EDC เปิดเสนอให้ผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนโดยตรงแล้ว ผู้ประกอบการควรจะศึกษารายละเอียด หรือสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการฯ นั้น ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุน
เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย
นายชูพล สุขแสนเจริญ
หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงพนมเปญ
แหล่งข้อมูล
- รายงาน Salient Features of Power Development in the Kingdom of Cambodia Until December 2020, Electricity Authority of Cambodia.
- ประกาศ Invitation for Bid, Development of a 40 MW Solar Photovoltaic Power Plant Project in Kampong Chhnang Province, Cambodia on 01 December 2020.
- สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2564