ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวขนานใหญ่กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง กำลังซื้อที่หดหาย แต่วันนี้ EXIM E-NEWS จะพาไปรู้จักกับธุรกิจส่งออกต้นไม้เพื่อการตกแต่ง ธุรกิจที่เติบโตสวนวิกฤตด้วยการเลือกคู่ค้าที่ใช่ บริษัท เดอะ ฟราแกรนซ์ จำกัด บริหารงานโดยคุณณัฏฐ์รวินท์ เลื่อมรุ่ง และคุณยาเซอร์ ฮุสเซน กรรมการผู้จัดการ ดำเนินธุรกิจส่งออกต้นไม้เพื่อการตกแต่งไปยังต่างประเทศ สร้างมูลค่าการส่งออกหลายสิบล้านบาทต่อปี
คุณณัฏฐ์รวินท์ เลื่อมรุ่ง ได้รับคำชวนจากคุณยาเซอร์ ฮุสเซน ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการจำหน่ายต้นไม้ระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินธุรกิจนี้ร่วมกัน โดยการจัดหาต้นไม้จากประเทศไทย อาทิ ต้นเข็ม ต้นเฟื่องฟ้า ต้นปาล์ม ต้นอินทผลัม ไปจนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่ กลุ่มลูกค้าอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค มีกลุ่มลูกค้า 2 ประเภทคือ กลุ่มผู้ค้าส่ง และบริษัทรับจัดสวน
ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ 5 ปี เดอะ ฟราแกรนซ์มีทีมทำงานไม่กี่คน แต่สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 30 ล้านบาทต่อปี โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่ 45 ล้านบาทต่อปี แม้จะมีผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้การเรียกเก็บเงินล่าช้าไปจากเดิมบ้าง แต่บริษัทคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกราว 30-35 ล้านบาท ในปี 2564 เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเห็นโอกาสในการสต็อกสินค้า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจหลังวิกฤต COVID-19 ต่อไป
กลุ่มลูกค้า UAE ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ทำให้สั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่สามารถเดินทางมาเลือกต้นไม้ด้วยตนเองได้ แต่เดอะ ฟราแกรนซ์ก็อำนวยความสะดวกด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการสั่งสินค้าผ่านทางออนไลน์แทน
หัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจส่งออกต้นไม้ของเดอะ ฟราแกรนซ์ ประสบความสำเร็จคือ การเลือกคู่ค้าที่ดี ในประเทศที่ใช่ ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ ลูกค้าของเดอะ ฟราแกรนซ์อยู่ที่ UAE ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและตัดสินใจซื้อง่าย ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงการที่บริษัทค่อย ๆ พัฒนาจากบริษัทเล็ก ๆ มีความระมัดระวังในการบริหารจัดการเงิน ทำให้เติบโตแบบมีคุณภาพและมั่นคง
นอกจากการมี Partner คือลูกค้าที่ดีแล้ว ธุรกิจที่ต้องอาศัยสภาพคล่องสูงในการบริหารจัดการซัพพลายเชนเช่นนี้ ยังต้องมีคู่คิดด้านการเงินที่ดี โดยบริษัทได้รับการติดต่อจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) จากนั้นได้รับการสนับสนุนด้าน สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน และมาตรการสินเชื่อ SMEs ผ่อนปรน (Soft Loan) อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจมาได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน
ปัจจัยบวกของผู้ประกอบการส่งออกต้นไม้จากประเทศไทยไปยังตะวันออกกลาง มีหลายประการ คือ ตลาด UAE มีการเติบโตต่อเนื่อง พฤติกรรมผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายและซื้อซ้ำบ่อย ในขณะที่กฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าไม่ยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงสินค้าประเภทต้นไม้จากไทยได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและราคา และ ซัพพลายเออร์ของบริษัทมีกำลังการผลิตต้นไม้ที่เพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากนี้ลูกค้ายังมีความต้องการต้นไม้จากไทยอยู่มาก ในขณะที่จำนวนคู่แข่งน้อยราย ปัจจุบันมีผู้ส่งออกต้นไม้จากประเทศไทยไป UAE ราว 10 รายเท่านั้น
ธุรกิจนี้มีความท้าทายที่ต้องพิจารณาคือ ลูกค้าให้ความสำคัญที่ราคาเป็นหลัก ทำให้ในตลาดเกิดการแข่งขันด้านราคา ลูกค้าพร้อมจะเปลี่ยนคู่ค้าง่าย และบางครั้งอาจได้รับการชำระเงินล่าช้าเนื่องจากใช้วิธีชำระเงินแบบ Free on Board (FOB) หรือ Cost & Freight (C&F) ทำให้บางครั้งไม่สามารถตามเก็บเงินได้ครบหรือได้รับล่าช้า
สำหรับผู้ประกอบการส่งออกที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการไม่ได้รับเงิน สามารถเลือกวิธีชำระแบบตราสารเครดิต (Letter of Credit หรือ L/C) ที่มีธนาคารมาเป็นผู้รับรองการชำระเงิน ซึ่งผู้ส่งออกมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าจะได้รับเงินค่าสินค้าแน่นอน หากจัดส่งสินค้าและยื่นเอกสารได้ครบถ้วนถูกต้องตามเงื่อนไขของ L/C และผู้ซื้อก็สามารถรับเอกสารไปออกสินค้าได้เมื่อชำระเงินตามเงื่อนไขของ L/C แล้ว
การทำธุรกิจส่งออกให้ประสบความสำเร็จ นอกจากการมีคู่ค้าที่ดีแล้วยังต้องมี Partner ที่ดี อย่าง EXIM BANK ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษา รวมถึงบริการทางการเงินเพื่อผู้ประกอบการส่งออก
?เดอะ ฟราแกรนซ์ โชคดีมากที่ EXIM BANK หาเราเจอ ก่อนหน้านี้ก็ทำธุรกิจโดยใช้เงินสดหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว ทำให้บางครั้งเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ธุรกิจพออยู่ได้ แต่ไม่เติบโต แต่ EXIM BANK ได้เข้ามาให้คำแนะนำ รวมถึงให้การสนับสนุนสินเชื่อ ทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างมั่นคงจนถึงวันนี้? คุณณัฏฐ์รวินท์กล่าว
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2564