การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงในทุกภาคส่วน รวมถึงภาคการส่งออก ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของไทยทั้งปี 2563 หดตัว 6% ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วิกฤต Hamburger ในปี 2552 แต่จากตัวเลขเดือนธันวาคม 2563 ที่เพิ่งออกมาล่าสุดพบว่า มูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ 4.7% นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 เดือน ขณะที่หลายฝ่ายยังตั้งข้อสงสัยว่า การฟื้นตัวครั้งนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวเลขมูลค่าส่งออกในเชิงลึก พบว่าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายมิติ ได้แก่
- มูลค่านำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง จากข้อมูลในอดีตมูลค่าส่งออกของไทยจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับมูลค่านำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ คอมพิวเตอร์ หรือเคมีภัณฑ์ ล้วนพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าในสัดส่วนสูง ซึ่งจากมูลค่านำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปในเดือนธันวาคม 2563 ที่ขยายตัว 11.2% สูงสุดในรอบ 9 เดือน และเป็นการขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตเริ่มฟื้นตัวดี โดยในเดือนธันวาคม 2563 กลับมาอยู่ที่ระดับ 65% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อน COVID-19 สอดคล้องกับมูลค่านำเข้าสินค้าทุนเดือนธันวาคม 2563 ที่กลับมาขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 11 เดือน สะท้อนถึงภาคการผลิตและการลงทุนที่เริ่มกระเตื้องขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของการส่งออกในระยะถัดไป
- ตลาดส่งออกสำคัญกลับมาขยายตัวได้ถ้วนหน้า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกของไทยปี 2563 หดตัวลงเกือบทุกตลาด โดยในบรรดาตลาดส่งออกสำคัญ 20 อันดับแรกของไทย (การส่งออกไม่รวมทองคำ) มีเพียงตลาดสหรัฐฯ และจีน เท่านั้นที่ยังขยายตัวได้และมีส่วนสำคัญที่ช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยปี 2563 ไม่ให้หดตัวลงมากนัก อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกเดือนธันวาคม 2563 เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น เมื่อตลาดส่งออกสำคัญของไทยหลายแห่งเริ่มกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยบางแห่งกลับมาขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สอดคล้องกับล่าสุดที่ IMF มีการปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 5.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.2% สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
- การฟื้นตัวของการส่งออกที่สะท้อน Real Demand มากขึ้น หากพิจารณามูลค่าส่งออกรายเดือนในปี 2563 พบว่ามีบางช่วงที่มูลค่าส่งออกรวมกลับมาขยายตัวได้ อาทิ ในช่วงเดือนเมษายน ที่มูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวได้ที่ 2.1% อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของมูลค่าส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปที่ขยายตัวในระดับสูง จากการเก็งกำไรของนักลงทุนตามราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปดังกล่าวไม่ได้สะท้อนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคเศรษฐกิจจริง และหากไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป มูลค่าส่งออกของไทยปี 2563 จะหดตัวทุกเดือน อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกเดือนธันวาคม 2563 ที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบนี้ไม่ได้มีแรงส่งมาจากการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปอย่างที่ผ่านมา โดยมูลค่าส่งออกไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูปสามารถขยายตัวได้ถึง 5% สูงสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนการส่งออกสินค้าที่เป็น Real Demand ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยมูลค่าส่งออกสินค้าสำคัญ 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า กลับมาขยายตัวพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 28 เดือน
- จากตัวเลขมูลค่าส่งออกล่าสุดในเดือนธันวาคม 2563 เริ่มสะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคส่งออกที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เชื่อได้ว่าการส่งออกของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทที่ยังผันผวนในทิศทางแข็งค่า รวมถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวชี้ถึงทิศทางการส่งออกของไทยปี 2564 ว่าจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้อีกเมื่อไหร่และมากน้อยเพียงใด
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564