เรื่องเล่าจาก CLMV: โอกาสของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและ Supply Chain ในเวียดนาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 5, 2021 13:44 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยมีสภาวะแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งการลงทุนในธุรกิจเพื่อส่งออกสินค้าอันเนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่เวียดนามได้ลงนามไว้กับคู่ค้าทั่วโลก และการลงทุนเพื่อผลิตสำหรับการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรถึง 97 ล้านคน และคาดการณ์ว่าประชากรของเวียดนามจะแตะ 100 ล้านคนในปี 2024 นี้ นอกจากจำนวนประชากรที่มากแล้ว เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีประชากรในวัยแรงงานในอัตราที่สูงถึง 58% หรือ 56.5 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยของประชากรที่ 32.5 ปี มีรายได้เฉลี่ย (GDP per Capita) เป็นอันดับ 2 ใน CLMVT รองจากไทย

ด้วยจำนวน กำลังซื้อ อายุเฉลี่ย และแนวทางการดำเนินชีวิตของประชากรในเวียดนามที่มีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากขึ้น อาหารแปรรูปกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในเวียดนาม เนื่องจากตอบสนองกับ Lifestyle ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนกลับมารับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการส่งออกและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในเวียดนาม โดยอาหารแปรรูปของไทยเป็นที่ได้รับความนิยมในเวียดนาม มีทั้งอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์และสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมี Know-How และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ประกอบกับนโยบายภาครัฐของเวียดนามที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องของมาตรจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำประมาณ 10-17% (จากอัตราภาษีทั่วไป 25%) สำหรับการซื้อวัตถุดิบภายในประเทศ และการได้รับสิทธิ์พิเศษทางภาษี (GSP) จากหลายประเทศเมื่อมีการส่งออกสินค้า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอาหารแปรรูปของไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ โรงงานแปรรูปไก่ โรงงานปลากระป๋อง โรงงานน้ำตาล โรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง และยังมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปอีกหลายรายที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขยายการลงทุนในเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาถึงธุรกิจที่เป็น Supply Chain ของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ศูนย์บริการเครื่องจักรอุตสาหกรรม ธุรกิจคลังสินค้า บริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิแล้ว พบว่ายังมีจำนวนธุรกิจที่รองรับได้อยู่น้อยโดยเฉพาะธุรกิจคลังสินค้าและการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ ที่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนการผลิตและนำเข้าอาหารแปรรูปของเวียดนามที่ต้องใช้บริการในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้ให้บริการที่เป็นข้อจำกัดนี้ส่งผลให้อัตราค่าเช่าของธุรกิจห้องเย็นในเวียดนามถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการอาหารแปรรูปในเวียดนามได้เห็นถึงข้อจำกัดนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการทางการเงินเฉพาะเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตอาหารแปรรูปมีห้องเย็นเป็นของตนเองแต่จนขณะนี้ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ของรัฐออกมา

ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และมีความสนใจที่จะขยายการลงทุน หรือผู้ส่งออกที่สนใจขยายตลาดไปยังประเทศเวียดนาม นอกจากจะต้องศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แล้ว อย่าลืมมองหาพันธมิตรท้องถิ่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จ โดยหากผู้ประกอบการต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นของคู่ค้าในเวียดนาม หรือต้องการทราบข้อมูลของคู่ค้าโดยละเอียด สามารถขอรับบริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อได้จาก EXIM BANK

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ CLMV เพิ่มเติมได้ที่

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์ : hcmcoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงพนมเปญ : phnompenhoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงเวียงจันทน์ : vientianeoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงย่างกุ้ง : yangonoffice@exim.go.th

แหล่งข้อมูล

data.worldbank.org

statista.com

https://en.vietnamplus.vn/govt-support-needed-for-investment-in-cold-storage/188837.vnp

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ