ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทอาหารที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติทั้งในด้านรสชาติและคุณภาพ จึงเป็นแต้มต่อสำหรับผู้ส่งออกไทยในธุรกิจอาหารที่จะได้รับการต้อนรับในตลาดโลกได้ไม่ยาก วันนี้ คุณเกียรติ มะริด กรรมการ บริษัท จงกล โปรดักส์ จำกัด จะมาแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกขนมหวานประเภทเยลลี่ ภายใต้แบรนด์ ?Jongkol Products? ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี จากธุรกิจในห้องแถวเติบโตสู่การมีโรงงานผลิตสินค้าของตนเองเพื่อขยายกำลังการส่งออก มีลูกค้าในหลายประเทศ ทำรายได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท
บริษัท จงกล โปรดักส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 จากธุรกิจซื้อมาขายไปที่รับขนมเยลลี่มาจากโรงงานผู้ผลิตแล้วนำมาแบ่งบรรจุใหม่โดยส่งออกไปยังอินเดียเป็นประเทศแรก จากนั้นเมื่อมีโอกาสไปออกบูทที่งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX จึงได้ขยายตลาดไปยังประเทศอื่น เช่น เวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลัก ลูกค้ามีทั้งกลุ่มโมเดิร์นเทรดและผู้จำหน่ายขนมรายย่อย ต่อมาได้รับออเดอร์เพิ่มขึ้นจน Suppliers ผลิตสินค้าไม่เพียงพอ บริษัทจึงเริ่มมีการผลิตเองบางส่วนเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน โดยลงทุนสร้างโรงงานใหม่ มีการออกแบบโรงงานใหม่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลส์ มีระบบกรองน้ำบาดาลที่ขุดใช้ และสร้างระบบควบคุมดูแลจัดการของเสีย รวมถึงจัดสรรให้มีพื้นที่สีเขียวบริเวณโรงงาน พร้อมทั้งพัฒนาองค์ความรู้และคิดค้นสูตรของตนเองในการทำเยลลี่คลุกน้ำตาล จนปัจจุบันสามารถผลิตสินค้าเองได้เกือบ 100% มีมูลค่าส่งออกทั้งหมดราว 100 ล้านบาทต่อปี และลดลงเหลือประมาณ 78 ล้านบาท จากผลกระทบของ COVID-19
นอกเหนือจากเป็นขนมขบเคี้ยว เยลลี่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถพัฒนาเป็นสินค้าอื่นได้ เช่น ใช้ประดับขนมเค้ก ซึ่งเยลลี่ของ Jongkol Products ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอาหารจากไทยได้รับการยอมรับอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีโรงงานผลิตเอง จึงสามารถควบคุมต้นทุนและคุณภาพของสินค้าได้ เลือกใช้วัตถุดิบที่ดี ปรับรสชาติ ความหวาน สี ผิวสัมผัส กลิ่น ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ เช่น รสหวานน้อย หรือสีสันสดใสตามธรรมชาติไม่ฉูดฉาด
นอกจากนี้ เรายังมีจุดแข็งด้านคุณภาพการผลิตที่ผ่านมาตรฐานรับรองต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การเป็นโรงงานเยลลี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาลของอินโดนีเซีย ทำให้เรามีโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น อาทิ ประเทศแถบตะวันออกกลาง
ความท้าทายหนึ่งที่บริษัทต้องเผชิญคือ การขาดแคลนแรงงานคุณภาพ และการที่พนักงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 แรงงานจึงเดินทางกลับประเทศตนเอง ในขณะที่แรงงานในประเทศขาดแคลนและค่าจ้างสูง บริษัทจึงสร้างโรงงานที่ใช้ระบบ Automation ในสายการผลิต ซึ่งใช้จำนวนพนักงานน้อยลงแต่สามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น
อีกหนึ่งความท้าทายคือ การแข่งขันด้านราคาจากผู้ผลิตเยลลี่จากจีนและอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทก็ปรับตัวโดยจับกลุ่มตลาดสินค้าพรีเมียม และยังมีแผนขยายไลน์การผลิตสินค้าใหม่โดยเน้นที่กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ อาทิ เยลลี่ผสมวิตามิน เพื่อจับเทรนด์ผู้บริโภคปัจจุบันที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
ส่วนปัญหาด้านการขนส่งระหว่างประเทศในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งสูง และได้รับเงินล่าช้าจากการส่งสินค้าได้ล่าช้า บริษัทเลือกใช้วิธีเก็บมัดจำค่าสินค้าล่วงหน้า
วิกฤต COVID-19 ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาส 2-3 เราจึงปรับสายการผลิตเหลือสัปดาห์ละ 2-4 วัน (จากเดิม 6 วัน) เพื่อผลิตสินค้าสำหรับออเดอร์ที่ยังค้างอยู่ รวมถึงเจรจาขอพักชำระหนี้กับธนาคาร เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจ ทำให้บริษัทสามารถประคองตัวฝ่าฟันวิกฤตมาได้จนลูกค้าต่างประเทศเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับมา
EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินแรก ๆ ที่เราติดต่อด้วย มีการดูแลในเชิงรุก เสนอสินเชื่อที่เหมาะสม จึงเป็นมากกว่าแค่ธนาคารกับลูกค้า แต่เป็นเพื่อนคู่คิดที่ดีทั้งในยามปกติและยามวิกฤต ยิ่งในช่วง COVID-19 ก็ช่วยเหลือมาตลอดเพื่อให้เราผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากมาได้
ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการสนับสนุนจาก EXIM BANK ได้แก่ สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะยาวเพื่อก่อสร้างโรงงาน ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ตลอดจนได้ร่วมโครงการจับคู่ทางธุรกิจกับ EXIM BANK จนมีคู่ค้าในเมียนมา นอกจากนี้เรายังได้รับการสนับสนุนในช่วงวิกฤต COVID-19 จากมาตรการ EXIM ลดภาระผู้ส่งออกไทย สู้ภัยไวรัสโคโรนา และมาตรการสินเชื่อ SMEs ผ่อนปรน (Soft Loan) อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปีด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกคือ ?ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อลูกค้า? มองคู่ค้าเป็นเพื่อนร่วมทางในระยะยาว เราจึงกำหนดให้มีตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียวในแต่ละประเทศ หรือสำหรับประเทศที่พื้นที่กว้างใหญ่อย่างอินเดียก็มีเพียง 1 รายในแต่ละภูมิภาค ทำให้ลูกค้าไว้วางใจ เกิดการสั่งซื้อซ้ำ และดำเนินธุรกิจร่วมกันได้ยาวนาน
นอกจากนี้เรายังต้องคาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อย่างเช่นที่บริษัทเริ่มมองเห็นแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ จึงได้วางแผนการสร้างโรงงานที่นำระบบ Automation มาใช้ ทำให้สามารถปรับตัวได้ทันท่วงที
ในโลกของการเปลี่ยนแปลงเช่นทุกวันนี้ เราจะต้องคาดการณ์ให้ได้ไกล การมีคู่คิดที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจ เราไม่สามารถทำธุรกิจโดยลำพังได้ จะต้องมีพันธมิตรเพื่อให้สามารถฝ่าฟันวิกฤตและสร้างการเติบโตในอนาคตต่อไปได้
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2564