ผ่านปี 2564 หรือปีฉลูมาแล้วเกือบ 2 ไตรมาส ดูเหมือนสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มกระเตื้องขึ้นและมีความหวังที่กำลังจะเข้าสู่วัฏจักรของการฟื้นตัว (Economic Recovery) อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ต่อจากนี้ที่น่าจะเริ่มเห็นตัวเลข GDP ของหลายประเทศกลับมาขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 1 ปี จากอานิสงส์ของการผลิตและการเร่งฉีดวัคซีนที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงในหลายประเทศ ปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วราว 1,450 ล้านโดสในกว่า 176 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564) ปัจจัยดังกล่าวช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ รวมถึงตลาดการเงินมีทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุดหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ IMF ที่ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ถึง 6.0% ซึ่งถือเป็นอัตราขยายตัวที่สูงสุดตั้งแต่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ภาพการฟื้นตัวที่กำลังจะไปได้ดี อาจแฝงไปด้วยปัจจัยเสี่ยงในหลายมิติที่เริ่มก่อตัวคู่ขนานกันไป ดังนี้
- เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว คู่ขนานไปกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น จากการที่รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กลับมาอยู่ในทิศทางขาขึ้นอีกครั้ง สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการของโลก (JPMorgan Global Composite PMI) ณ เดือนเมษายน 2564 ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ 56.3 จุด สูงสุดในรอบหลายปี อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวเกิดคู่ขนานไปกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวค่อนข้างเร็วจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้จุดชนวนความกังวลว่าอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อนแรงเกินไป (Overheat) และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนบั่นทอนเสถียรภาพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับแรงผลักดันจากด้านอุปทาน (Cost-push Inflation) โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี เช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ ทองแดง โลหะเงิน สินค้าเกษตรหลายชนิดที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-pull Inflation) ยังมีไม่มากนัก ดังเห็นได้จาก อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่แม้จะลดลงจากระดับสูงสุดที่ 14.7% ในเดือนเมษายน 2563 เหลือราว 6.1% ในปัจจุบัน แต่ก็ยังสูงกว่าอัตราว่างงานเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับไม่เกิน 4% ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่การจ้างงานของสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
- นโยบายการเงินยังผ่อนคลายไปอีกระยะ คู่ขนานไปกับต้นทุนทางการเงินระยะยาวที่ขยับเพิ่มขึ้น วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ได้ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องหันกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกครั้ง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ที่ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0-0.25% และดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ต่อเนื่องในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนแก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งจากรายงานการประชุมของ Fed ครั้งล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่า Fed มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับดังกล่าวไปจนถึงปลายปี 2565 หรือปี 2566
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (Inflation Expectation) ที่เร่งตัวขึ้น ทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มคิดว่า Fed อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทยอยลดขนาดของ QE เร็วกว่าที่คาดไว้เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนชดเชยกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ หรือบางส่วนก็อาจรอเข้าซื้อพันธบัตรใหม่ที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงกว่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้ราคาพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ลดลงสวนทางกับอัตราผลตอบแทนที่ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 1.6% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ ยังผลักดันให้รัฐบาลต้องออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน ก็ยิ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าอุปทานของพันธบัตรจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอีก
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าหากผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นเร็วเกินไปจะเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจที่ยังอ่อนแอและอาศัยการระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นหลัก ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความผันผวนต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก
- ราคาสินทรัพย์เร่งตัวขึ้น คู่ขนานไปกับความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่ ตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาราคาสินทรัพย์หลายประเภทปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2563 ที่ COVID-19 เริ่มระบาดในวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพคล่องที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยไหลเข้าไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) โดยเฉพาะ Bitcoin
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นในบางสินทรัพย์ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน และอาศัยการเก็งกำไรจากความคาดหวังในอนาคตมากกว่าความสามารถในการทำกำไรในปัจจุบัน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ บางตัว และ Bitcoin ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนหน้าใหม่ที่มีความรู้ด้านการลงทุนไม่มากนักแต่เข้ามาลงทุนตามกระแสเพื่อหวังผลตอบแทนระยะสั้น ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีส่วนคล้ายกับสาเหตุของการเกิดวิกฤต Great Depression ในช่วงทศวรรษปี 2470 และวิกฤต Dot Com ในปี 2543 ที่มีการเทขายสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วจนกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
แม้ในภาพรวม เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกันโดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทยที่น่าจะได้อานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว ดังเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกของไทยที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ด้วยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่แฝงตัวควบคู่กันมา ผู้ส่งออกยังไม่ควรนิ่งนอนใจ และจำเป็นต้องติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การทำประกันการส่งออก รวมถึงการรักษาสถานะทางการเงินและสภาพคล่องอย่างเหมาะสมก็น่าจะช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถผ่านพ้นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบันไปได้
Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2564