เรื่องเล่าจาก CLMV: ตามติดสถานการณ์ในเมียนมาและการเตรียมพร้อมของผู้ประกอบการไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 2, 2021 15:42 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เป็นเวลากว่า 3 เดือนเศษที่เมียนมาเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 วันนี้เรามาอัพเดทสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนของเมียนมา ที่มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

ในช่วง 1-3 เดือนแรกของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จะเห็นการออกมาประท้วงของกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาบริหารประเทศของกลุ่มทหารตามท้องถนน และการทำอารยะขัดขืนในแบบฉบับของชาวเมียนมาที่เรียกว่า Civil Disobedience Movement (CDM) โดยประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจะหยุดปฏิบัติงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้หน่วยงานบางแห่งต้องหยุดดำเนินงานเนื่องจากพนักงานเข้าร่วม CDM นอกจากนี้ ยังมีกระแสการต่อต้านสินค้าจากบางประเทศที่ประชาชนเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านทางการเมืองในครั้งนี้ รวมถึงกระแสต่อต้านสินค้าและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิต โดย Myanmar Economic Corporation (MEC) และ Myanmar Economic Holding Limited (MEHL)

ในขณะที่สิ่งที่มีความกังวลมากสุดต่อภาคธุรกิจคือ การประกาศ Sanction จากหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งพบว่าชาติตะวันตกมีประกาศ Sanction เฉพาะต่อกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจทั้งกลุ่มทหารและพลเรือน รวมถึงธุรกิจของกองทัพเท่านั้น

ปัจจุบันสถานการณ์ด้านความรุนแรงในเมียนมาเริ่มมีความคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากการเปิดดำเนินการของภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ รวมทั้งมีการยกเลิกการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ต จากเดิมที่มีการระงับการให้บริการในช่วง 01.00-09.00 น. โดยเริ่มกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ร้านค้าร้านอาหารเริ่มกลับมาเปิดให้บริการ ประชาชนในเมืองย่างกุ้งเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

ในส่วนของประเทศไทยคงเป็นเรื่องยากที่จะเลี่ยงผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากไทยและเมียนมามีพรมแดนติดต่อกันกว่า 2,400 กิโลเมตร รวมทั้งการค้าระหว่างไทยและเมียนมาที่ยังมีการพึ่งพากันอยู่

ประเด็นที่ต้องจับตามอง

ด้านการขนส่ง (Logistics) เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องคอยติดตามข่าวสารในเรื่องของพิธีการนำเข้า การส่งออกสินค้าผ่านชายแดนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเริ่มมีการออกกฎระเบียบการห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลเมียนมาประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภท น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟและชา กาแฟสำเร็จรูป นมข้นหวานและนมข้นจืด ผ่านทางด่านชายแดนทางบกทุกด่าน แต่ยังสามารถขนส่งผ่านทางเรือและทางเครื่องบินได้

ด้านภาคการธนาคาร ธนาคารหลายแห่งเริ่มเปิดให้บริการได้มากขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของการเบิก-ถอนเงิน เช่น มีการกำหนดการถอนเงินผ่าน ATM โดยสามารถถอนได้ครั้งละไม่เกิน 200,000-300,000 จ๊าต/สัปดาห์ โดยจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร สำหรับการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้านั้นเริ่มทำได้บ้าง แต่ต้องเผื่อเวลาในการทำธุรกรรม ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังมีการเกิดความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของค่าเงินจ๊าต (Kyat) เนื่องจากประชาชนนิยมเก็บเงินในสกุล USD หรือเก็บเป็นทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง จึงทำให้ค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ด้านการลงทุน พบว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่ตัดสินใจชะลอการลงทุน เพื่อรอดูท่าทีและความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตามอง หากมีการแพร่ระบาดอีกครั้ง อาจทำให้เกิดการ Lockdown อีกรอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้าและการลงทุนเป็นวงกว้าง

การเตรียมตัวสำหรับผู้ส่งออกไทยและนักลงทุนไทย

สำหรับผู้ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา ควรมีการติดตามข่าวสาร กฎระเบียบต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และติดต่อกับคู่ค้าในเมียนมาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการเตรียมกระแสเงินสดไว้ในมือเพื่อรองรับกรณีที่ผู้ซื้อในเมียนมาไม่สามารถดำเนินการชำระค่าสินค้าตรงตามเวลา

ปัจจุบัน EXIM BANK ได้ออกมาตราการเยียวยาธุรกิจไทยใน CLMV จากผลกระทบ COVID-19 และสถานการณ์ภายในเมียนมา ทั้งสำหรับลูกค้าปัจจุบันและผู้ประกอบการทั่วไปที่สนใจ รวมทั้งมี Hotline สายด่วนเพื่อผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในเมียนมา โดยติดต่อได้ที่ 0 2271 3700 ต่อ 3009 หรือ yangonoffice@exim.go.th

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ CLMV เพิ่มเติมได้ที่

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงพนมเปญ : phnompenhoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียงจันทน์ : vientianeoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงย่างกุ้ง : yangonoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์ : hcmcoffice@exim.go.th

เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย

นายวรมินทร์ ถาวราภา

หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงย่างกุ้ง

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ