บรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่ง นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Gracz ได้มองการณ์ไกลมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงริเริ่มกิจการผลิตและส่งออกภาชนะใส่อาหารทำจากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ ตั้งแต่ก่อนกระแสรักษ์โลกและใส่ใจสุขภาพจะเป็นที่นิยมเช่นทุกวันนี้
บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกบรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติ ภายใต้แบรนด์ Gracz ก่อตั้งขึ้นในปี 2548 ที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท บริษัทเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ชนิดย่อยสลายได้ (Biodegradable) จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และในขณะนั้นเป็นบริษัทเดียวใน AEC ที่ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่ทำจากเยื่อพืชธรรมชาติ ซึ่งมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ จุดเริ่มต้นของบริษัทเกิดจากการเล็งเห็นอันตรายของภาชนะพลาสติกหรือโฟมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งผลิตจากปิโตรเลียม ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี และเป็นต้นเหตุของขยะพลาสติกจำนวนมากในปัจจุบัน ที่ไหลลงทะเล ปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ เกิดสารพิษสะสมในสัตว์และพืช ก่อให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ในมนุษย์โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
?ประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรจำนวนมาก รวมไปถึงวัตถุดิบจากธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ชานอ้อย ฟางข้าว ผักตบชวา เรามองเห็นโอกาสนี้ จึงสร้างนวัตกรรมขึ้นมา นั่นคือ บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายภายใน 45 วัน เรียกว่าใช้แล้วสามารถเอามาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้เลย? นพ.วีรฉัตรกล่าว
นับตั้งแต่รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2559 และออกมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างจริงจังมากขึ้น ยิ่งในช่วงปี 2562 ข่าวผลกระทบจากขยะพลาสติกที่มีต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นข่าวในพื้นที่สื่อบ่อยครั้ง เช่น กรณีการตายของมาเรียม พะยูนกำพร้า ขวัญใจชาวโซเชียลที่เกิดจากการกินขยะในทะเล ทำให้เกิดกระแสการรณรงค์ใช้ภาชนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในเขตอุทยานแห่งชาติ และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ทำให้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ?เกรซ Gracz? มียอดขายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถแตกไลน์การผลิตรองรับความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการ Lockdown ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่สามารถขายของได้ ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นฐานลูกค้าของบริษัทได้รับผลกระทบหนัก สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เน้นการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่สามารถเปิดให้บริการกับนักท่องเที่ยวได้ จากยอดขายหลักล้านชิ้น เหลือเพียงหลักแสนชิ้นเท่านั้น บริษัทจึงต้องปรับตัวโดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น ลดการผลิตจานชามลง เพราะนั่งรับประทานที่ร้านไม่ได้ มาเน้นที่ผลิตกล่องบรรจุอาหารสำหรับการเดลิเวอรี่แทน หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปเสนอขายในโรงพยาบาลเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ลดโอกาสการแพร่เชื้อต่าง ๆ
แม้ว่าบริษัทจะพยายามปรับตัวเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ แต่ผลกระทบจากยอดขายที่ตกลงมาอย่างมากนั้นกระทบกับเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤต COVID-19 ระลอกใหญ่ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และ EXIM BANK ได้ติดต่อมา บริษัทจึงได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู
?วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจของเราร่วงลงมาหนักมาก การที่ผู้คนทำกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง พ่อค้าแม่ค้าก็ขายของได้น้อยลง ยอดขายสินค้าของเราจากเดิมที่เคยขายได้หลักล้านชิ้น เหลือเพียงหลักแสนเท่านั้น ขอขอบคุณกลไกภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ EXIM BANK ที่ช่วยเหลือเราได้ทันเวลา มาตรการช่วยเหลือของธนาคารเป็นเสมือนยา ส่วน EXIM BANK คือหมอ ที่วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ให้ยาดีและไว ธุรกิจของเราจึงมีโอกาสฟื้นตัวเป็นปกติได้เร็ว
?เราเชื่อว่าธุรกิจอื่นก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากเรา บริษัทของเราใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการพัฒนาคน พัฒนาผลิตภัณฑ์ เราบอกพนักงานในบริษัทว่าเราจะไม่ทิ้งกัน แต่เราทุกคนต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อที่จะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ขอให้ผู้ประกอบการทุกท่านอย่ายอมแพ้ COVID-19 ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกี่ระลอกก็ตาม แต่มันจะมีระลอกสุดท้ายแน่นอน และเมื่อวัคซีนได้รับการพัฒนา COVID-19 ก็กำลังจะหายไป ขอให้ทุกคนเข้มแข็งและเตรียมพร้อมรับโอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตครับ? นพ.วีรฉัตร กล่าว
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2564