สปป.ลาว เป็นตลาด E-Commerce ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม แม้มีประชากรเพียง 7 ล้านราย แต่มีช่องว่างให้ทำตลาดได้อีกมาก ทั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงเฉลี่ย 5.6% (ปี 2564-2568) รวมถึงปัจจัยสนับสนุนการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่โตเร็วสุดในกลุ่ม CLMV ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมและภาษาที่ใกล้เคียงกับไทย ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดเตรียมเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้เอื้อให้ สปป.ลาว เป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเริ่มต้นรุกตลาด E-Commerce ในต่างประเทศ
4C?Key Success Factors รุกตลาด E-Commerce ใน สปป.ลาว
สปป.ลาว มีแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์หลายประเภท ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเลือกแพลตฟอร์มให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและสินค้าที่ต้องการจะขาย เช่น Plaosme (แพลตฟอร์มท้องถิ่นของรัฐ) สินค้าที่นิยมค้าขายเป็นกลุ่มสินค้าเกษตร Shopping-D เน้นขายอาหารสดและอาหารแปรรูป โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในนครหลวงเวียงจันทน์ นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มสากล เช่น Shopee, Lazada ที่สามารถวางขายสินค้าได้หลากหลายประเภท รวมถึงช่องทาง Social Media ด้วย เช่น Facebook, Instagram
ผู้ซื้อชาวลาวส่วนใหญ่ต้องการได้รับสินค้าก่อนแล้วค่อยชำระเงิน (ผลสำรวจจาก UNCTAD ระบุว่าชาวลาว 96% นิยมชำระเงินปลายทาง) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเลือกใช้บริษัทโลจิสติกส์ที่เชี่ยวชาญในพื้นที่และให้บริการครบวงจร ทั้งการขนส่งสินค้าและเก็บเงินปลายทาง เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้ซื้อชาวลาว รวมถึงช่วยอุดช่องโหว่การขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ความเหมือนคือ ข้อได้เปรียบ : ชาวลาวมีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย รวมถึงติดตามสื่อบันเทิงไทย จึงนิยมและคุ้นเคยสินค้าไทยเป็นอย่างดี สะท้อนจากแบรนด์ไทยหลายรายติดอันดับสินค้าขายดีใน สปป.ลาว ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของแบรนด์ไทยที่ไม่ต้องทำการตลาดมากนัก
เข้าใจวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้ซื้อท้องถิ่น : การเข้าใจพฤติกรรมชาวลาวในแต่ละพื้นที่จะช่วยให้ขายสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น ชาวลาวในภาคเหนือนิยมรับประทานอาหารรสไม่จัด ขณะที่ชาวลาวในเวียงจันทน์และจำปาสักซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงนิยมอาหารรสจัดคล้ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ประชากรของ สปป.ลาว ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่เมือง เนื่องจากภูมิประเทศของ สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขา ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกเจาะตลาดสำคัญของ สปป.ลาว ได้อย่างชัดเจน โดยแขวงที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและมีประชากรจำนวนมาก ได้แก่ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง สะหวันนะเขต และจำปาสัก ซึ่งทั้ง 4 แขวงมีประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2564