กระแส Green Recovery หรือการพัฒนาเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกต้องเผชิญในระยะต่อไป ประเด็นดังกล่าวตอกย้ำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาดำเนินนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และ EU ที่ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon) ภายในปี 2593 ขณะที่จีนตั้งเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2603 สำหรับประเทศในอาเซียน การดำเนินนโยบายของรัฐบาล การดำเนินงานของสถาบันการเงิน ตลอดจนทิศทางการลงทุนของภาคธุรกิจในภูมิภาค ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามกระแส Green Recovery มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
หลังวิกฤต COVID-19 หลายประเทศดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม รับกับกระแส Green Recovery เช่นเดียวกับสถาบันการเงินทั่วโลก รวมถึงในอาเซียนที่ต่างให้ความสนใจเข้าร่วมการสนับสนุนทางการเงินในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Finance) เพิ่มมากขึ้น อาทิ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีแนวโน้มที่น่าสนใจ อาทิ
- สถาบันการเงินปรับบทบาทมุ่งสู่กระแส Green มากขึ้น อาทิ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาคที่มีบทบาทในการเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ กำหนดเป้าหมายสนับสนุนโครงการลงทุนที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนด้วยเม็ดเงินราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573
- กระแสความต้องการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการระดมทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Green, Social and Sustainability : GSS) ในอาเซียนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2563 โดยการระดมทุนกว่า 50% เป็นของบริษัทในสิงคโปร์ อาทิ บริษัท MS Commercial Pte Ltd ซึ่งระดมทุนได้ 1.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการ Marina One Green Building ซึ่งเป็น Complex ขนาดใหญ่ภายใต้แนวคิดประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นการระดมทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมูลค่ามากที่สุดในอาเซียนในปี 2563
การระดมทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
HSBC รายงานมูลค่าการระดมทุนสำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนสูงสุดเป็น
ประวัติการณ์ในปี 2563 ที่ 12.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ แนวโน้มการสนับสนุนทางการเงินดังกล่าวจะช่วยเกื้อหนุนการเติบโตของธุรกิจในอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกัน ยังมีส่วนผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเร่งดำเนินการตามเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน อาทิ การตั้งเป้าเพิ่มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเม็ดเงินสนับสนุนจากกระแสการลงทุนดังกล่าว
ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้เป็นไปตามที่แต่ละประเทศได้ให้สัตยาบันไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดย 5 ประเทศแรกของอาเซียนที่มีการปล่อยคาร์บอนในระดับสูง (สัดส่วนรวมกันราว 80% ของอาเซียน) ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งแต่ละประเทศมีการตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนในอัตราที่ต่างกันตั้งแต่ 9% (เวียดนาม) ถึง 75% (ฟิลิปปินส์) ภายในปี 2573
ทั้งนี้ นอกจากการตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนภายใต้ Paris Agreement ยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะจากบริษัทชั้นนำของชาติตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนำมาใช้ประกอบการเลือกแหล่งลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ประเทศในอาเซียนมีนโยบายเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ตลอดจนเร่งดำเนินมาตรการสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามที่กำลังเร่งผลักดันระบบซื้อขายสิทธิ์การปล่อยคาร์บอน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดให้แก่การลงทุนที่จำเป็นต้องปล่อยคาร์บอน ส่วนอินโดนีเซียก็เร่งผลักดันระบบดังกล่าวเช่นกัน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สอดรับกับนโยบายดึงดูด FDI โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งมีแผนยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ตั้งแต่ปี 2567
สำหรับประเทศในอาเซียน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน โดยในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายปี 2563 อาเซียนได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 15% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2562 เป็น 23% ภายในปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะเกื้อหนุนความต้องการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียนราว 35-40 GW ในช่วงปี 2564-2568 โดยส่วนใหญ่อยู่ในเวียดนามและอินโดนีเซีย
กระแสการดำเนินมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในทุกภาคส่วนของโลกเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว ดังนี้
การลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอาเซียน โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งมีการกำหนดแผนอย่างชัดเจนในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนโอกาสในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจกำจัดขยะและบำบัดของเสีย
กระแสลดการปล่อยคาร์บอนที่ขยายเป็นวงกว้างจะกดดันธุรกิจทั้งรายใหญ่และ SMEs ที่แทรกตัวอยู่ใน Supply Chain ของธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีการปล่อยคาร์บอนในระดับสูง อาทิ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ใช้น้ำมัน และอุตสาหกรรมเหล็ก ให้ต้องเตรียมหาแนวทางพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยผู้ประกอบการ SMEs อาจเริ่มต้นจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตตามแนวทางการประหยัดพลังงานขั้นพื้นฐาน อาทิ การทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์อยู่เป็นประจำ และการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานเป็นระยะๆ ไปจนถึงการวางแผนหากต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือการปรับระบบมาใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานให้มากขึ้นด้วยการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ แผงโซลาร์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน
Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2564