ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนกลายเป็นหนึ่งกระแสหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และทำให้เครื่องมือในการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) มีบทบาทมากขึ้นตามไปด้วย สะท้อนได้จากมูลค่าการออก Green Bond ทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและทั้งปี 2564 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังเป็นกลุ่มที่ครองตลาด Green Bond ของโลก แต่กลุ่มประเทศตลาดใหม่ซึ่งรวมถึงประเทศในอาเซียนก็เริ่มเกาะกระแสการเติบโตของตลาด Green Bond ซึ่งคาดว่าในอนาคตตลาด Green Bond ในอาเซียนจะเติบโตมากขึ้นเป็นลำดับ ตามการตื่นตัวรับกระแส Green Recovery หลังวิกฤต COVID-19
- มูลค่าการออก Green Bond ทั่วโลกเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าสะสมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 2.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงแซงหน้ามูลค่าสะสมของทั้งปี 2563 ที่ 2.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
- มูลค่าการออก Green Bond สะสมของทั้งปี 2564 จะเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4-4.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกหลังวิกฤต COVID-19 ที่จะมุ่งไปสู่ Green Recovery
ส่องทิศทางตลาด Green Bond ในอาเซียน
- ตลาด Green Bond ในอาเซียนมีสัดส่วนราว 2-3% ของมูลค่าการออก Green Bond ทั้งหมดของโลก ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสัดส่วนตลาด Green Bond ของประเทศพัฒนาแล้วที่ราว 80% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศในอาเซียนเพิ่งเริ่มออก Green Bond เป็นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการพัฒนาตลาด Green Bond มายาวนานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม การออก Green Bond มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนตลาด Green Bond ในอาเซียน ทั้งผู้ออก Green Bond และนักลงทุนมีประสบการณ์และให้ความสนใจเพิ่มขึ้น อีกทั้งกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการออก Green Bond ยังมีความชัดเจน และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
- มูลค่าการออก Green Bond ในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในปี 2563 จะขยายตัวเพียง 12.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ขยายตัวสูงถึง 50% ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้การออก Green Bond บางส่วนต้องชะลอออกไป
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีมูลค่าการออก Green Bond สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการนำร่องของรัฐบาลอินโดนีเซียในการออกตราสารหนี้อิสลามสีเขียว (Green Sukuk) ในปี 2561 มูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนไปใช้ลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานทดแทน โครงการระบบขนส่งด้วยพลังงานสะอาด และโครงการบริหารจัดการขยะ ขณะที่ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2563 บริษัท Star Energy Geothermal (Dajarat II) ได้ออก Green Bond มูลค่า 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการพลังงานทดแทน
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกที่ออก Green Bond ภายใต้มาตรฐาน ASEAN Green Bond Standard โดยสถาบันการเงินเป็นผู้ออก Green Bond รายสำคัญเพื่อระดมทุน อาทิ Bank of Philippines Islands (BPI) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของฟิลิปปินส์ ออก Green Bond เพื่อระดมทุนในตลาดยุโรปเป็นสกุลเงินฟรังก์สวิสเมื่อปี 2562 เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่การออก Green Bond ส่วนใหญ่จะมาจากภาคธนาคาร เพื่อนำเงินที่ได้ไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสีเขียว (Green Loan)
สำหรับประเทศไทยตลาด Green Bond เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการออก Green Bond ในปี 2563 อยู่ที่ 1,039 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 20% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการออก Green Bond จากภาคเอกชนเป็นหลัก อาทิ BTS Group Holding ที่ออก Green Bond เพื่อนำเงินไปสนับสนุนโครงการระบบขนส่งที่ลดการปล่อยคาร์บอน (Low Carbon Transportation) และ Ratch Group PCL ที่ออก Green Bond เป็นครั้งแรกเพื่อนำเงินไปพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนและโครงการรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ประเทศไทยออก Green Bond ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากลเป็นครั้งแรกในปี 2561 ขณะที่ตลาด Green Bond ก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงผลักดันทั้งจากด้าน Supply ที่ภาคเอกชนมีการออก Green Bond มากขึ้น ขณะที่ด้าน Demand ก็ได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุน สะท้อนได้จากยอดแสดงความจำนงลงทุนใน Green Bond ของนักลงทุนที่สูงกว่ามูลค่า Green Bond ที่เสนอขายหลายเท่าในช่วงที่ผ่านมา
ปัจจัยสนับสนุนการออก Green Bond?ตัวเร่งการลงทุนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ขยายฐานนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใส่ใจกับประเด็นสิ่งแวดล้อม และต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง
- เตรียมตัวเข้าสู่ระเบียบโลกยุคใหม่ที่ข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้น
- ยกระดับภาพลักษณ์ให้องค์กร โดยเฉพาะในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ทางเลือกใหม่ในการลงทุน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง
- ความผันผวนต่ำ เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว
- การลงทุนมีความโปร่งใส เนื่องจากมีเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน
นอกจาก Green Bond จะทำให้ผู้ออก Bond และนักลงทุนมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในตลาดแล้ว ตลาด Green Bond ในอาเซียนยังได้ รับแรงสนับสนุนสำคัญจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ไม่ว่าจะเป็นการเสนอมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการออก Green Bond ของประเทศในอาเซียน การสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้แก่องค์กรท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินตราสารหนี้ และการจัดทำ Information Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลการออก Green Bond ทุกรุ่นในอาเซียน ผ่านเว็บไซต์ www.asianbondonline.org ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมและผลักดันตลาด Green Bond ในอาเซียนให้เติบโตต่อไป
Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มาของรูปภาพ : Icon made by Freepik, Catkuro, Flat Icons, Iconixar, from www.flaticon.com
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2564