ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 นี้ มีการเปิดตัวของ 2 ธุรกิจค้าปลีกจากประเทศไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ 7-Eleven ซึ่งบริหารโดย CP ALL (Cambodia) Co., Ltd. ได้เปิดดำเนินการสาขาแรกในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 และ Mini Big C ซึ่งบริหารโดย Big C Supercenter (Cambodia) Co., Ltd. เปิดดำเนินการสาขาแรกในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 และถือเป็นสาขาแห่งที่ 2 ของ Big C ในประเทศกัมพูชา โดยสาขาแรกมีรูปแบบเป็นห้างขนาดใหญ่ (Big C Supercenter) เปิดดำเนินการที่กรุงปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา
สำหรับ CP All (Cambodia) Co., Ltd. นั้นได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ในการจัดตั้งและดำเนินการร้าน 7-Eleven ในประเทศกัมพูชาเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยคู่สัญญาอาจตกลงต่ออายุสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 20 ปีด้วย ส่วนแผนการขยายสาขาในอนาคตนั้น ทาง CP ALL Cambodia มีแผนที่จะขยายสาขาประมาณ 700-1,000 สาขาทั่วประเทศกัมพูชา และ Big C Supercenter (Cambodia) มีเป้าหมายจะเปิดร้านสะดวกซื้อถึง 350 สาขา ภายใน 5 ปี โดยสาขาที่เปิดในช่วงแรกจะเป็นการบริหารงานโดยบริษัทเอง (Company Owned Company Operated: COCO) และหลังจากการบริหารจัดการภายในร้านเริ่มลงตัว จึงมีแผนจะขายแฟรนไชส์ต่อไป
การเข้ามาลงทุนของทั้ง 2 บริษัท ทำให้ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะกลุ่มร้านสะดวกซื้อ หรือกลุ่ม Mini Mart ในกัมพูชา ที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้วในปัจจุบัน ยิ่งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงพนมเปญ จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดพระสีหนุ เป็นต้น ซึ่งมีร้านสะดวกซื้อที่มีชื่อเสียงทั้งระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ เข้าไปดำเนินธุรกิจแล้วหลายราย เช่น
- Circle K 22 สาขา (สหรัฐอเมริกา บริหารโดยนักธุรกิจชาวกัมพูชา)
- Kiwi Mart 20 สาขา (กัมพูชา)
- Aeon MaxValu 12 สาขา (ญี่ปุ่น)
- Smile Mini Mart 11 สาขา (กัมพูชา)
- Lucky Express 5 สาขา (กัมพูชา)
- Chip Mong Express 2 สาขา (กัมพูชา)
อย่างไรก็ดี หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง สามารถสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ เหล่านี้ ยังเล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตของตลาดค้าปลีก ผ่านช่องทาง Modern Trade ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมเมืองซึ่งล้อไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายอื่น ๆ ที่มีกำลังซื้อสูง เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในกัมพูชาไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนต่อปี และกลุ่มนักธุรกิจและคนทำงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองใหญ่ หลายแสนคน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการคาดการณ์หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่านพ้นไปแล้ว
ความเห็นของสำนักงานผู้แทนฯ
สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการไทยนั้น ในช่วงแรกจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่มีสินค้าจำหน่ายอยู่แล้วในร้าน 7-Eleven และ Big C ที่ประเทศไทย โดยสามารถต่อยอดขยายสินค้ามาวางจำหน่ายที่สาขาในประเทศกัมพูชาได้ แต่ต้องตกลงภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่ต่างจากสาขาในประเทศไทย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดซื้อสินค้าของ CP ALL (Cambodia) และ Big C Supercenter (Cambodia) ซึ่งน่าจะเป็นการจัดซื้อผ่านตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศกัมพูชา เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้มากขึ้น
การที่ผู้บริโภคชาวกัมพูชามีความคุ้นเคยกับแบรนด์ 7-Eleven และ Big C ในประเทศไทยเป็นอย่างดี เนื่องจากมีการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทยของกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป หรือกลุ่มแรงงานกัมพูชาที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยหลายแสนคน และการรับรู้สื่อโฆษณา ละคร ภาพยนตร์ เพลงของไทย จากหลายช่องทางของคนกัมพูชาในประเทศ ทำให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายสินค้ามายังตลาดกัมพูชามีโอกาสเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ phnompenhoffice@exim.go.th
เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย
นายชูพล สุขแสนเจริญ
หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงพนมเปญ
แหล่งข้อมูล:-
- สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ
- สำนักข่าว Khmer Times; https://www.khmertimeskh.com/50929761/big-c-opens-first-store-in-phnom-penh/
- สำนักข่าว Khmer Times; https://www.khmertimeskh.com/50927061/first-7-eleven-draws-crowds-on-opening-day-despite-heavy-rainfall/
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2564