Share โลกเศรษฐกิจ: จับสัญญาณนโยบายการเงินกลับทิศในตลาดเกิดใหม่..."จำเป็นหรือจำใจ"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 8, 2021 13:36 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve : Fed) และธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกอยู่ไม่น้อย เพราะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 ที่ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของโลกทั้ง 2 แห่ง ได้ส่งสัญญาณชัดเจนที่จะเริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นผ่านการปรับลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing : QE) ในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายงาน Dot-Plot ของ Fed ยังสะท้อนว่าสหรัฐฯ อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าครั้งก่อนที่คาดว่าจะปรับขึ้นในปี 2566

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้มีธนาคารกลางของหลายประเทศได้นำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก่อน Fed และ ECB แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ฮังการี นอร์เวย์ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหลังควบคุม COVID-19 ได้ดี รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนไม่น้อยที่แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกันเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังค่อนข้างเปราะบาง จะมีความพร้อมเพียงใดในการรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะขอแบ่งกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่ม ?จำเป็น? ได้แก่ เม็กซิโก ชิลี รัสเซีย เปรู เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีหลังมีการเปิดเมือง ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-up Demand) สะท้อนได้จาก GDP ไตรมาส 2 ปี 2564 ของประเทศเหล่านี้ที่ไม่เพียงขยายตัว Double Digits เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (y-o-y) แต่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(q-o-q) ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเหล่านี้ขยับสูงขึ้น ทั้งนี้ การที่ตัวเลข GDP ขยับขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขเงินเฟ้อและนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้างต้นถือได้ว่าเป็นไปตามกลไกปกติของการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสกัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพด้านราคาที่ถือว่ามีความ ?จำเป็น? ในระยะยาว
  • กลุ่ม ?จำใจ? ได้แก่ บราซิล โคลัมเบีย ยูเครน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวเปราะบาง สะท้อนได้จากตัวเลข GDP (q-o-q) ไตรมาส 2 ของปี 2564 ที่ยังหดตัว สวนทางอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในระดับ Double Digits ทั้งนี้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นผลมาจากเงินเฟ้อด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) ที่มีน้ำหนักมากกว่าเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ เนื่องจากปัญหา Supply Chain Disruption และต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ต้อง ?จำใจ? ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ท่ามกลางความเสี่ยงที่อาจเกิดสภาวะ ?Stagflation? (เศรษฐกิจชะลอตัว อัตราว่างงานสูง เงินเฟ้อสูง) สถานการณ์ดังกล่าวอาจยิ่งซ้ำเติมภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพค่าเงินในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศตลาดเกิดใหม่ข้างต้นถือเป็นเหรียญสองด้านที่ผู้ส่งออกไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคู่ค้าในประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ ?จำใจ? ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และจะกระทบต่อผู้ส่งออกไทยที่พึ่งพาตลาดดังกล่าว ขณะที่ในส่วนของเศรษฐกิจไทยถือว่ายังโชคดีที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกปี 2564 อยู่ที่ 0.8%) ทำให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยที่ยังไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากเหมือนหลายประเทศข้างต้น

Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ