เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา กว่า 160 ประเทศ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึงราว 90% ของ GDP โลก ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (Global Minimum Tax : GMT) ที่อัตรา 15% เพื่อลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และนับเป็นการปฏิรูประบบภาษีครั้งสำคัญของโลก ทั้งนี้ ที่มาและสาเหตุ สาระสำคัญ ไปจนถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากข้อตกลงดังกล่าวมีดังนี้
การหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เป็นปัญหาที่นานาประเทศตระหนักถึงมาเป็นเวลากว่า 40 ปี โดยบริษัทดังกล่าวส่วนหนึ่งใช้วิธีการจัดตั้งบริษัทลูกในประเทศที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในระดับต่ำ ขณะเดียวกันก็มีการโอนกำไรจากบริษัทแม่ที่ตั้งในประเทศที่มีอัตราภาษีสูงกว่าไปยังบริษัทลูก ทั้งนี้ วิธีการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยวิธีดังกล่าวทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2556 กลุ่มประเทศ G20 และ OECD ได้เป็นแกนนำในการประชุมความร่วมมือเพื่อป้องกันการแข่งกันลดภาษีและการโยกย้ายกำไร (Base Erosion and Profit Shifting : BEPS) โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 การประชุมดังกล่าวได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการกำหนด GMT ที่ 15%
- ข้อตกลง GMT บังคับใช้เฉพาะบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ทั่วโลกสูงกว่า 750 ล้านยูโรต่อปี (ราว 870 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี)
- ประเทศที่ร่วมข้อตกลงสามารถเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ตามเกณฑ์ดังกล่าวที่ตั้งในประเทศในอัตราขั้นต่ำ 15% โดยหากบริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่า 15%ประเทศที่ตั้งของบริษัทแม่สามารถเรียกเก็บส่วนต่างของภาษีที่ต่ำกว่า 15% กับบริษัทดังกล่าวได้
- ข้อตกลง GMT ไม่ยอมรับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีพิเศษที่เป็นมาตรการจูงใจทางภาษี อาทิ การหักค่าใช้จ่ายบางรายการได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง เป็นต้น เพื่อป้องกันการใช้มาตรการดังกล่าวในการทำให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แท้จริง (Effective Corporate Tax Rate) ต่ำกว่า 15%
ทั้งนี้ ในระยะถัดไปแต่ละประเทศที่ร่วมข้อตกลงมีหน้าที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 เพื่อที่จะเริ่มบังคับใช้ GMT ตั้งแต่ปี 2566
- การกำหนด GMT คาดว่าจะช่วยบรรเทาความรุนแรงในการแข่งขันกันลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศต่าง ๆ ทำให้กลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติในระยะข้างหน้าจะเน้นไปที่ความพร้อมด้านอื่น ๆ มากขึ้น อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ทักษะแรงงาน และความพร้อมด้านเทคโนโลยี
- แม้มีบางประเทศที่ไม่ได้ร่วมข้อตกลงและยังไม่ต้องกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% แต่ด้วยกลไกที่อนุญาตให้ประเทศที่ตั้งของบริษัทแม่สามารถเก็บรายได้ภาษีส่วนต่างที่ต่ำกว่า 15% จะทำให้ประเทศที่ไม่ได้ร่วมข้อตกลงมีแรงจูงใจในการปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขึ้นถึงระดับ 15% เพื่อเพิ่มรายได้ภาษีที่ควรจะได้ แทนที่จะปล่อยให้ประเทศที่ตั้งของบริษัทแม่ได้ประโยชน์ไป ทั้งนี้ สำหรับประเทศในอาเซียนที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงดังกล่าวประกอบด้วยฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา
- ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันดึงดูดการลงทุนกับประเทศที่ใช้นโยบายอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลระดับต่ำได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งจะมีข้อจำกัดมากขึ้นในการใช้นโยบายแข่งขันด้วยอัตราภาษีระดับต่ำ ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มักพิจารณาอัตราภาษีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับเลือกประเทศที่จะลงทุน อีกทั้งมักเจรจาต่อรองกับรัฐบาลประเทศปลายทางเพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ต่ำเป็นพิเศษ
บริบทของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทำให้กลไกการเก็บภาษีในอดีตอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจยุคปัจจุบันที่มีความซับซ้อนขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ด้วยการเติบโตขึ้นของธุรกิจดิจิทัลซึ่งยากต่อการระบุประเทศที่ตั้งกิจการ และขอบเขตการให้บริการและการจำหน่ายสินค้าสู่ผู้บริโภคกระจายไปได้หลากหลายประเทศ ยิ่งทำให้การจัดเก็บภาษีทำได้ยากลำบาก ดังนั้น รัฐบาลแต่ละประเทศ รวมถึงไทย จึงมีแนวโน้มที่จะปรับปรุงระบบภาษีให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามและทำความเข้าใจถึงรูปแบบภาษีใหม่ ๆ อยู่สม่ำเสมอ
Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2564