ปฎิเสธไม่ได้ว่าความนิยมในการใช้เงินคริปโตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากไปทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในการซื้อขายเพื่อทำกำไร และการนำมาเป็นเครื่องมือในการชำระระหว่างกัน ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายเรื่องเงินคริปโตเกิดขึ้นใน สปป.ลาว เมื่อมีหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ 1158/หสนย. เรื่อง ทิศชี้นำเกี่ยวกับการค้นคว้า การทดลองขุดบิตคอยน์ และการขอเซ็นสัญญาซื้อขายพลังงานกับบริษัทไฟฟ้าที่ให้เงื่อนไขด้านราคาไฟสูงสุด เพื่อนำมาใช้ในกิจการ Data Processing หรือการขุดเหมืองเงินคริปโต (Crypto Currency) โดยมีเนื้อหาหลักคือ 1) การอนุญาตให้บริษัทจำนวน 6 แห่ง (บริษัทจากประเทศจีน 1 แห่ง และกลุ่มธุรกิจของ สปป.ลาว จำนวน 5 แห่ง) สามารถทำการทดลองขุดเหมืองเงินดิจิทัล การนำใช้เงินคริปโต การซื้อขายเงินคริปโตอยู่ใน สปป.ลาว และ 2) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ธนาคารแห่ง สปป.ลาว และ กระทรวงการเงิน ร่วมกันพิจารณากำหนดเกณฑ์กำกับการดำเนินการเรื่องเงินคริปโต เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในเดือนกันยายน 2564 โดยนโยบายการดำเนินการเรื่องเงินคริปโตนี้ มีผลดีต่อภาครัฐ และภาคเอกชน ดังนี้
ภาครัฐ
1.รายได้ค่ากระแสไฟฟ้าจากการขุดเหมืองคริปโต
2.ค่าสัมปทานและภาษีธุรกิจเหมืองคริปโต
3.ภาษีธุรกิจแพลตฟอร์มเงินคริปโต
4.เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)จากการขยายสัมปทานการลงทุนเหมืองคริปโต
ภาคเอกชน
1.กำไรจากราคาขายเงินคริปโต
2.รายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายเงินคริปโต
3.การเพิ่มโอกาสในการค้าขายทั้งในและนอกประเทศด้วยเงินคริปโต
4.ลดปัญกาการขาดแคลน Hard Currency โดยการชำระผ่านเงินคริปโต
จะเห็นได้ว่าการที่รัฐบาล สปป.ลาว ได้เปิดโอกาสให้มีการทดลองเรื่องเงินคริปโตในครั้งนี้ มีโอกาสทำให้เกิดผลดีหลายด้านต่อทั้งภาครัฐและเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่งรัฐก็ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบของการนำใช้เงินคริปโตที่อาจเกิดขึ้นต่อภาพรวมของประเทศด้วย อาทิ ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากของกิจการเหมืองขุดเงินคริปโตที่อาจกระทบต่อแผนการขยายฐานการผลิตภายในประเทศ การป้องกันการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายเป็นการฟอกเงินผ่านธุรกรรมเงินคริปโต การลักลอบทำธุรกรรมโดยไม่จัดทำรายงานให้หน่วยงานกำกับทราบ หรือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพื้นที่เหมืองขุดเงินคริปโต เป็นต้น จึงต้องจับตาดูว่ากฎเกณฑ์กำกับที่อยู่ระหว่างการจัดทำของคณะทำงานของรัฐ จะสรุปออกมาเพื่อบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศตามความตั้งใจไว้อย่างไร
สำหรับภาคเอกชนไทยที่เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว หรือทำการค้าขายระหว่างประเทศกับธุรกิจใน สปป.ลาว ก็อาจเริ่มพิจารณาแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ และพิจารณาหาช่องทางที่จะเป็นประโยชน์ด้านการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น โอกาสในการรับชำระค่าสินค้าเป็นเงินคริปโตซึ่งบางประเภทมีเสถียรภาพที่ดีกว่าเงินกีบ โอกาสในการขยายการค้ากับคู่ค้าใน สปป.ลาว โดยไม่ติดปัญหาเรื่องการหาเงิน Hard Currency เพื่อชำระค่าสินค้า หรือโอกาสในการใช้เงินคริปโตเป็นเครื่องมือการลงทุนทางการเงินเพื่อเพิ่มรายได้ของกิจการ เป็นต้น
ทั้งนี้หากมีข้อสอบถามหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานผู้แทนเวียงจันทน์ EXIM BANK อีเมล vientianeoffice@exim.go.th
เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย
นางสาววีรนุช ธรรมศักดิ์
หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียงจันทน์
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2564