Share โลกเศรษฐกิจ: 3 เหตุการณ์ "ที่สุด" แห่งปี 2565...หนุนส่งออกไทยยังไปต่อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 6, 2022 14:21 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ปี 2564 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ?การส่งออก? คือ ผู้เล่นสำคัญที่ดึงเศรษฐกิจไทยให้พลิกกลับมาเป็นบวกได้แม้จะถูกล็อกดาวน์เกือบทั้งปี เห็นได้จากมูลค่าส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกที่ขยายตัวสูงถึงกว่า 15% ทำให้มูลค่าส่งออกทั้งปี 2564 น่าจะทะลุ 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แม้ในช่วงท้ายปีหลายความเสี่ยงได้เร่งตัวขึ้นทั้งจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยส่งสัญญาณชะลอลง รวมถึงต้นทุนการผลิตและค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอาจกระทบโมเมนตัมการส่งออกของไทยในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 จะมี 3 เหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น ?ที่สุด? ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีส่วนเข้ามาช่วยเสริมเกมรุกและสร้างแนวรับให้กับการส่งออกของไทยได้ ดังนี้

  • Build Back Better - แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เสริมเกมรุกการส่งออกไทย ด้วยมูลค่าวงเงินรวมมากที่สุดในประวัติศาสตร์เกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นกว่า 20% ของ GDP สหรัฐฯ โดยล่าสุดสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้อนุมัติวงเงินไปแล้ว 2.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 รวมถึงการยกเครื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ครอบคลุมถึงการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่วงเงินลงทุนที่เหลืออีกราว 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติในปี 2565

ทั้งนี้ Moody?s ประเมินว่า หากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถดำเนินการได้สำเร็จจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2565 ขยายตัวได้ถึง 5% และคาดว่าจะก่อให้เกิด Spillover Effect หรือแรงกระเพื่อมที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะข้างหน้าคึกคักขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกของไทย โดยเฉพาะไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย

  • RCEP - ข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยเสริมแกร่งในการเจาะตลาดในภูมิภาค ด้วยขนาดประชากรของชาติสมาชิกทั้ง 15 ประเทศรวมกันประมาณ 2.2 พันล้านคนหรือราว 1 ใน 3 ของโลก ทั้งนี้ RCEP จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 หลังจากใช้เวลาเจรจาร่วมกันยาวนานถึง 10 ปี โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิก รวมถึงไทยขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 0.6% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ในส่วนของสินค้าส่งออก ไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การลดภาษีสินค้าเหลือ 0% ราว 30,000 รายการ อาทิ ผลไม้ ยางพารา รถยนต์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะพิธีการทางศุลกากรที่รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ซึ่งข้อตกลง RCEP นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในการเจาะตลาดในภูมิภาคได้มากขึ้นตามไปด้วย

  • APEC - กับบทบาทการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในรอบหลายปี สร้างแนวรับความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่ง โดยในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก (APEC 2022) ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ระดับโลกครั้งแรกของไทยในรอบหลายปี โดยจะมีผู้นำของชาติสมาชิก โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซียมาประชุมพร้อมกันและนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำ APEC มีโอกาสพบกันแบบตัวต่อตัวตั้งแต่เกิด COVID-19 ซึ่งแน่นอนว่าไทยจะได้รับการจับตามองในฐานะเจ้าภาพ ซึ่งจะเป็นบันไดก้าวสำคัญของไทยที่จะใช้โอกาสนี้ในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติสมาชิกต่างๆ และยังถือเป็นโอกาสในการโปรโมทเอกลักษณ์ของสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ต่างชาติมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นสะพานในการช่วยฟื้นฟูบรรยากาศการท่องเที่ยว ตลอดจนการลงทุนอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไป

จาก 3 ความเป็นที่สุดในโลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 เปรียบเสมือน ?ตัวช่วย? เพิ่มโอกาสให้การส่งออกของไทยรักษาโมเมนตัมการเติบโตต่อไปภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่อาจใช้จังหวะนี้ในการรุกตลาดส่งออก รวมถึงพัฒนาสินค้าเพื่อหาโอกาสในการแทรกตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตใหม่ของโลกที่จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป

Disclaimer: คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ