ปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศยังบอบช้ำจากผลกระทบของ COVID-19 ทั้งนี้ แม้ปี 2565 หลายฝ่ายคาดว่าสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังมีการกระจายวัคซีนและมีวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ สะท้อนได้จากล่าสุด World Bank คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2565 จะขยายตัว 4.1% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 3%
อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่เป็นผลพวงจาก COVID-19 ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการเงินโลก ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับแรงกระแทกจาก COVID-19 อยู่หลายครั้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งแรงกระเพื่อมต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 ผ่าน ?กระแสลมเปลี่ยนทิศ? ใน 5 มิติ ดังนี้
- เปลี่ยนต้นทุนทางการเงิน ?ขาลง? เป็น ?ขาขึ้น? : 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกได้อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 โดยในส่วนของนโยบายการเงินธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าวิกฤต Hamburger ในปี 2552 ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง
ปัจจุบันการที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่อั้นมาจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up Demand) รวมถึงปัญหา Supply Chain Disruption ที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งเพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มกลับทิศนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อาทิ รัสเซีย บราซิล เกาหลีใต้ ฮังการี แองโกลา เป็นต้น เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็เริ่มลดวงเงิน QE และกำลังจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับทยอยปรับลดงบดุลภายในปี 2565
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของยุคอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่สร้างความกังวลให้หลายฝ่ายว่า อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะ Stagflation ในประเทศที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เข้าข่ายเศรษฐกิจไม่สดใสแต่เงินเฟ้อและต้นทุนทางการเงินกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ขณะเดียวกัน ก็อาจจะส่งผลให้ค่าเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้นตามมา
- เปลี่ยน ?เงินกระดาษ? เป็น ?เงินดิจิทัล? : ประเด็นที่คงจะไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือความนิยมเงินดิจิทัลอย่าง Cryptocurrency ที่เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน สะท้อนได้จากจำนวนสกุลเงิน Cryptocurrency ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่าหมื่นสกุลและมีมูลค่าตลาดรวมราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก COVID-19 ที่กระตุ้นให้นักลงทุนและภาคธุรกิจหันมากระจายความเสี่ยงจากสินทรัพย์เดิม ไปหาทางเลือกในสินทรัพย์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับกระแสเงินดิจิทัลมากขึ้น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีส่วนกระตุ้นให้ธนาคารกลางหลายประเทศเร่งศึกษาและพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลทางการของตนเองมากขึ้น โดยปัจจุบันมี 9 ประเทศที่มีการออก CBDC มาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่ ไนจีเรีย บาฮามาส และอีก 7 ประเทศในทะเลแคริเบียน ขณะที่มีถึง 14 ประเทศที่เริ่มทดลองใช้ (Pilot Projects) อาทิ จีน เกาหลีใต้ รวมถึงไทย ที่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็เตรียมเริ่มใช้ CBDC เพื่อทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจ (Retail CBDC) ในวงจำกัดในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565ประเด็นดังกล่าวสะท้อนได้ว่าเงินธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน อาจกำลังจะถูกลดทอนบทบาทลงในยุค Next Normal ที่ผู้คนต่างต้องการความสะดวกและหาวิธีการในการลดต้นทุนการทำธุรกรรมลง ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพความพยายาม ของธนาคารกลางในหลายประเทศที่ยังต้องการควบคุมเสถียรภาพทางการเงินผ่านสื่อกลางทางการเงินยุคใหม่ที่ทางการสร้างขึ้นแทนที่จะปล่อยให้ Cryptocurrency ที่ถูกสร้างขึ้นมามีอิทธิพลมากเกินไป หรืออาจถูกนำมาใช้ในการทำธุรกรรมนอกระบบที่ควบคุมได้ยาก
- เปลี่ยน ?คู่แข่ง? เป็น ?คู่ค้า? : ตลอดหลายปีที่ผ่านมาถือเป็นยุคทองของธุรกิจ Fintech ที่อาศัยเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาปิด Pain Point ของบริการทางการเงินรูปแบบเดิมๆ ที่อาจมีต้นทุนสูง และขั้นตอนยุ่งยาก นอกจากนี้ Fintech รวมถึง Startup ยุคใหม่หลายบริษัทที่เกิดขึ้นยังมีเป้าหมายที่ไม่ใช่เป็นเพียงตัวเลือกทางการเงินเท่านั้น แต่หลายบริษัทยังหวังที่จะเข้ามา Disrupt สถาบันการเงินรูปแบบเดิมในที่สุดด้วย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเร่งปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่ทั้งการลดจำนวนสาขาที่ไม่จำเป็น การพัฒนา Internet Banking/e-banking รวมถึงหันมาลงทุนด้านนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในการแข่งขันกับ Fintech อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ COVID-19 แพร่ระบาด สถาบันการเงินหลายแห่งได้อาศัยจุดแข็งของตัวเองในด้านฐานเงินทุนขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นทางลัดในการได้มาซึ่งเทคโนโลยีทางการเงินผ่านการเข้าซื้อกิจการการเข้าไปถือหุ้นบางส่วน รวมถึงเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัท Fintech หรือ Startup ต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ Goldman Sachs ได้เข้าซื้อกิจการ GreenSky ซึ่งเป็น Fintech ที่ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ JCB ที่เข้าซื้อกิจการ Nets Group ซึ่งเป็น Fintech ที่ให้บริการชำระเงินชื่อดังในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย รวมถึงในประเทศไทยเองที่ล่าสุดธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งก็ได้เข้าซื้อแพลตฟอร์มการซื้อขายเงินดิจิทัล เป็นต้น
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิมที่สถาบันการเงินอาจมอง Fintech เป็นคู่แข่ง แต่ในอนาคตทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มจะกลายเป็นคู่ค้าที่อาศัยจุดแข็งของตัวเองในการเติมเต็มซึ่งกันและกันมากขึ้น โดยสถาบันการเงินรูปแบบเดิมจะมีจุดแข็งทั้งความน่าเชื่อถือ ฐานเงินทุน ฐานลูกค้า และเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาต่อยอดกับจุดแข็งของ Fintech ที่มีความคล่องตัวและเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งกระแสดังกล่าวจะกลายเป็น Mainstream ที่จะช่วยเสริม Ecosystem ทางการเงินยุคใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
- เปลี่ยน ?Grey? เป็น ?Green? Financing : เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance : ESG) กำลังได้รับความสนใจจากทุกองค์กรทั่วโลกรวมถึงภาคการเงิน ล่าสุดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 นอกจากผู้นำทั่วโลกจะมีข้อตกลงเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ยังมีการรวมตัวของสถาบันการเงินขนาดใหญ่กว่า 450 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ชื่อ Glasgow Finance Alliance for Net Zero หรือ GFANZ ได้ประกาศจุดยืนร่วมกันที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ภายในปี 2593 โดยสมาชิกจะต้องกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม และต้องลดการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิลภายในปี 2573 ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องยืนยันว่ากระแส Green Financing ไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่กำลังเป็นกระแสหลักที่สถาบันการเงินต้องให้ความสำคัญในการให้บริการทางการเงินในระยะถัดไป เพราะสถาบันการเงินถือเป็นต้นทางของเงินทุน ซึ่งเป็นปราการด่านแรกที่มีส่วนตัดสินว่าธุรกิจแบบไหนจะได้ไปต่อในอนาคต ที่ผ่านมา ธนาคารระดับโลกรวมถึงธนาคารในประเทศหลายแห่งก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวผ่านช่องทางการระดมทุน และการให้สินเชื่อ อาทิ Green Bond, Green Loan, Green M&A เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยหรือ Payment Rate ต่าง ๆ ตามผลงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของแต่ละโครงการ ปัจจัยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้หลายธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีโอกาสเติบโตได้ดี อาทิ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
- เปลี่ยน ?การโจรกรรมแบงก์? เป็น ?การโจรกรรมข้อมูลธุรกรรมการเงิน Online? : การระบาดของ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้หลายกิจกรรมในชีวิตประจำวันถูกผลักเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ทั้งการเรียน การทำงาน รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินที่แม้จะช่วยเพิ่มความเร็วและความสะดวกมากขึ้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นการเปิดช่องทางให้อาชญากรทางไซเบอร์ (Cyber Attack) เข้ามาหาประโยชน์ได้ง่ายขึ้นผ่านการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล โดยในช่วงที่ผ่านมาแทบทุกอุตสาหกรรมไม่เพียงภาคการเงิน แต่รวมถึงธุรกิจค้าปลีก โรงพยาบาล การศึกษา เป็นต้น ยังถูกคุกคามจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการประเมินของบริษัทวิจัยและบริการด้านไซเบอร์ชั้นนำอย่าง PurpleSec และ Cybersecurity Ventures พบว่าในช่วงวิกฤต COVID-19 มี Cyber Attack เพิ่มขึ้นถึงกว่า 600% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 โดยก่อให้ความเสียหายเป็นมูลค่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 ขณะที่กว่า 43% ของ Cyber Attack มุ่งเป้าไปที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ยังมีระบบป้องกันที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการเงินที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงินไว้จำนวนมากจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อป้องกันภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) มากขึ้น โดยมีการประเมินว่าในช่วงปี 2564-2568 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางไซเบอร์จะสูงถึง 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากหากไม่มีการป้องกันหรือลดอัตราการโจมตีทางไซเบอร์ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นทุก 11 วินาทีลง จะถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ ในอนาคต และทำลายความน่าเชื่อถือของธุรกรรมออนไลน์อย่างสิ้นเชิง
ท่ามกลางกระแสลมเปลี่ยนทิศในภาคการเงินที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความเสี่ยงแก่ภาคธุรกิจในหลายมิติ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องทำตัวเป็น ?นกที่ตื่นเช้า? ที่จะมีโอกาสจับหนอนได้ก่อนใคร ขณะเดียวกันก็ต้องเป็น ?เม่น? ที่พร้อมป้องกันตัวเอง และหาทางหนีทีไล่ให้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อที่จะอยู่รอดและไปต่อได้ในโลกธุรกิจและการเงินยุค Next Normal ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ดังคำกล่าวของ Charles Darwin นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษที่ว่า ?It is not the strongest of the species that survive, nor the most intelligent, but the one most responsive to change? (ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือผู้ฉลาดที่สุดจะสามารถอยู่รอดได้ หากแต่เป็นผู้ที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดที่จะอยู่รอด)
Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2565