หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่พูดถึงกันอย่างมากในปีนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงจากหลายปัจจัยรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และนโยบาย ZERO COVID-19 ที่ทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดอยู่เป็นระยะ ล่าสุด IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2565 ลงเหลือขยายตัว 4.8% ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี (ไม่รวมปี 2563 ที่ COVID-19 ระบาดหนัก) สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและมีความเชื่อมโยงกับไทยค่อนข้างสูง จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ผ่านช่องทางต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งในเบื้องต้นสามารถอธิบายผ่านตัวเลข ?14-17-28? ได้ดังนี้
- ?14? : การส่งออกอาจลดความร้อนแรงหากลูกหลานมังกรอยู่ในภาวะเงินขาดมือ เลข ?14? ตัวแรกคือสัดส่วนมูลค่าส่งออกของไทยไปจีนเทียบกับมูลค่าส่งออกรวม ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากตลาดสหรัฐฯ สะท้อนว่าการส่งออกของไทยพึ่งพาตลาดจีนค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2564 ซึ่งเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ 4% ก็ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนบางรายการที่ขยายตัวดีมาตลอดเริ่มหดตัวบ้างแล้วในเดือนธันวาคม 2564 อาทิ เม็ดพลาสติก (-1%) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (-21%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-19%) ทั้งนี้ ในระยะถัดไปหากเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องก็อาจจะยิ่งกระทบการส่งออกของไทยในปี 2565 มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่อ่อนไหวต่อกำลังซื้อของชาวจีน ขณะที่ไทยก็ส่งออกไปจีนค่อนข้างสูง อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
- ?17? : การลงทุนอาจไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบหากนักลงทุนดาวรุ่งเริ่มลังเล เลข ?17? ตัวถัดมาคือสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนจีนในไทย (Inflow) ปี 2563 และในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 17% ของเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในไทย ทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 1 ของไทยแซงหน้าญี่ปุ่น 2 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่กระตุ้นให้นักลงทุนจีนต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศรวมถึงไทยมากขึ้นเพื่อเลี่ยงผลกระทบจากภาษี จนทำให้ทุนจีนกลายเป็น New Engine ที่ช่วยปลุกการลงทุนในไทยให้กลับมาคึกคักขึ้นหลังจากที่ซบเซามานาน อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนจีนบางส่วนที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศรวมถึงไทย นอกจากนี้ อาจกระทบชิ่งมาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยทางอ้อม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมซึ่งมีชาวจีนเป็นลูกค้าสำคัญ
- ?28? : การท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวช้าเมื่อเสาหลักสะเทือน เลข ?28? ตัวสุดท้ายที่ต้องพูดถึง คือสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในไทย ซึ่งถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุด (ก่อนเกิด COVID-19) และเป็นเสาหลักของภาคการท่องเที่ยวไทยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในปี 2565 เริ่มมีการคาดกันว่ารัฐบาลจีนจะควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศของชาวจีนตลอดทั้งปีเพื่อเตรียมพร้อมจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว และการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะมีการต่ออายุผู้นำครั้งแรกในรอบ 5 ปี ขณะเดียวกันการที่จีนหันมาเน้นพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศและส่งเสริมให้ชาวจีนเที่ยวในประเทศมากขึ้น อาจทำให้ชาวจีนบางส่วนออกไปเที่ยวต่างประเทศลดลง ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยให้ลากยาวออกไปนานกว่าที่คาด
จากตัวเลข 14-17-28 ที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนค่อนข้างมาก ทั้งมิติการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอลงจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการสร้างสมดุลของภาคธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบในวันที่ชีพจรเศรษฐกิจจีนอ่อนแรงลง
Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565