ปัจจุบันผู้คนไม่ได้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เพียงเพื่อแก้เหงาหรือเฝ้าบ้าน แต่สัตว์เลี้ยงกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว พฤติกรรมของผู้รักสัตว์ทั่วโลกเปลี่ยนจาก Ownership เป็น Pet Parent ที่ใส่ใจกับการดูแลและเลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีให้แก่สัตว์เลี้ยงของตนเอง โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยง สะท้อนได้จากข้อมูลในวารสาร Pet Food Industry ที่รายงานว่า เกือบ 20% ของผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนสัตว์เลี้ยงมากที่สุดในโลก มีค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงเทียบเท่าหรือสูงกว่าอาหารสำหรับตนเอง พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง ซึ่งมีอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าสำคัญ เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดย Global Market Insights ประมาณการว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงของโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 261,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 เป็น 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2570 หรือขยายตัวปีละ 6% (CAGR) อย่างไรก็ตาม คาดว่าเทรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงจะมุ่งไปสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการสินค้าที่สอดคล้องกับ Lifestyle และความสนใจของตัวเองมากขึ้น ขณะที่ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตแบบ Mass Production หรือ One Size Fits All มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมลดลง
ตัวอย่างอาหารสัตว์เลี้ยงเฉพาะกลุ่มสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงในยุค Next Normal ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ห่วงใยสวัสดิภาพสัตว์ และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง อาทิ
- อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากแมลง (Insect-based Pet Food) แม้แมลงยังเป็นโปรตีนชนิดใหม่ที่หลายคนยังไม่คุ้นชิน แต่เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้บริโภค โดยเฉพาะใน EU และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของโลก เนื่องจากแมลงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ขณะเดียวกันการผลิตโปรตีนจากแมลงปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเนื้อสัตว์อีกหลายชนิด จึงตอบโจทย์ผู้ซื้อยุคใหม่ที่สนใจสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ ทั้งนี้ Future Market Insights (FMI) คาดว่า ยอดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากแมลงทั่วโลกจะมีมูลค่ารวม 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 9.3% (CAGR) ไปจนถึงปี 2574
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายจำหน่ายอาหาร/ขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ทำจากแมลงแล้ว ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกแมลงและผลิตภัณฑ์ จึงนับว่ามีศักยภาพในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากแมลง โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการไทยเริ่มมีการผลิตอาหารสุนัขจากแมลงออกวางจำหน่ายแล้ว อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงจำนวนหนึ่งไม่สะดวกใจที่จะให้สัตว์เลี้ยงรับประทานอาหารที่ยังเห็นเป็นรูปร่างตัวแมลง อาหารสัตว์เลี้ยงที่จะตอบโจทย์ในขณะนี้จึงควรใช้แป้งหรือผงโปรตีนจากแมลงมาเป็นส่วนประกอบ
- อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากพืช (Plant-based Pet Food) กระแสการลดหรืองดรับประทานเนื้อสัตว์มาแรงมากในสังคมยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนหันมาห่วงใยสวัสดิภาพสัตว์ สุขภาพ และปัญหาโลกร้อนกันมากขึ้น สะท้อนได้จากกลุ่มผู้บริโภคที่ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ไปจนถึงกลุ่มวีแกนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ อาทิ น้ำนม น้ำผึ้ง และไข่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้สนใจให้สัตว์เลี้ยงของตนรับประทานอาหารวีแกนเช่นเดียวกับตนเอง รวมถึงกลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้เป็นวีแกนหรือมังสวิรัติ แต่ก็สนใจให้สัตว์เลี้ยงรับประทานอาหารที่ทำจากพืช ทั้งเพื่อลดอาการแพ้เนื้อสัตว์ของสัตว์เลี้ยง หรือมั่นใจว่าดีกับสุขภาพสัตว์เลี้ยงของตน ทั้งนี้ ReportLinker รายงานว่า ในปี 2563 ตลาดอาหารสุนัขวีแกนมีมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2571 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.8% (CAGR)
ปัจจุบันมีผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งรายใหญ่และ Startup หันมาสนใจทำตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากพืชมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ที่เจาะกลุ่มตลาดพรีเมียมที่ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงทำจากพืช อาทิ ถั่ว ข้าวโอ๊ต และเห็ด โดยนำมาแปรรูปให้มีรสชาติที่สัตว์เลี้ยงชอบและมีสารอาหารครบถ้วน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจทำตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากพืชมีข้อควรพิจารณาเป็นพิเศษ คือ ผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบรับรองที่ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากพืชที่วางจำหน่ายมีโภชนาการเพียงพอและเหมาะสมสำหรับสัตว์เลี้ยงพร้อมศึกษาสถานการณ์และระเบียบมาตรการในตลาดปลายทางที่สนใจเข้าไปรุกตลาด เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงและหลายองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับสัตว์ในบางประเทศยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงที่รับประทานเฉพาะพืช และบางประเทศมีกฎหมายลงโทษเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ไม่ให้สัตว์เลี้ยงได้รับอาหารที่เหมาะสมตามโภชนาการ
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายตัวในอัตราสูงถึง 2 หลักติดต่อกัน จนก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน แต่จากการเติบโตอย่างโดดเด่นของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลกย่อมดึงดูดให้มีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันมากขึ้นในระยะถัดไป การที่ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตรงใจเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความต้องการที่หลากหลายและเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้นจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกของไทยซึ่งไม่เพียงช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แต่ยังอาจช่วยให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในอันดับที่สูงขึ้นต่อไปได้ในอนาคต
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2565