ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียมีการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากช่วงปลายปี 2563 ที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมาย Omnibus Law ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ครอบคลุมการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจอย่างรอบด้าน เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2564 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศปรับปรุงการจัดเก็บภาษีผ่านกฎหมาย Harmonized Tax Law หรือ RUU HPP (Law No.7/ 2021) โดยมีการปรับเปลี่ยนทั้งอัตราภาษีและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยที่กำลังจะเข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียควรทราบ เนื่องจากมีภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจโดยตรง โดยกฎหมาย Harmonized Tax Law มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงด้านภาษีภายใต้กฎหมาย Harmonized Tax Law
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถูกปรับขึ้นจากอัตราปัจจุบันที่ 10% เป็น 11% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 12% ภายในวันที่ 1 มกราคม 2568 ขณะที่สินค้าและบริการบางรายการที่ก่อนหน้านี้ได้รับการยกเว้น VAT จะถูกเรียกเก็บภาษีอีกครั้ง อาทิ บริการด้านการศึกษา บริการทางการแพทย์ บริการทางการเงิน บริการประกันภัย รวมถึงสินค้าอาหารหลัก* (Staple Food) บางรายการ โดยในหมวดสินค้าอาหารหลัก มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะจัดเก็บ VAT เฉพาะสินค้าราคาสูง อาทิ เนื้อวัวนำเข้าเกรดดี เพื่อไม่ให้กระทบการบริโภคของประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอประกาศรายละเอียดการจัดเก็บ VAT ดังกล่าวอย่างชัดเจนในระยะถัดไป
หมายเหตุ : * สินค้าอาหารหลักที่ได้รับการยกเว้น VAT ภายใต้กฎหมายเดิม อาทิ ข้าว นม เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ผัก น้ำตาลทราย และไข่
ภาษีเงินได้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล : คงไว้ที่อัตราเดิม 22% โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายใต้กฎหมายอินโดนีเซียจะต้องคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้รายได้จากการประกอบกิจการทั้งในอินโดนีเซียและในต่างประเทศ โดยหากมีการจ่ายภาษีนิติบุคคลส่วนหนึ่งในต่างประเทศแล้ว ผู้ประกอบการสามารถนำมาเครดิตภาษีได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด สำหรับกิจการประเภทสำนักงานหรือสาขาของบริษัทต่างชาติที่ตั้งในอินโดนีเซีย จะเสียภาษีเฉพาะรายได้ในอินโดนีเซียเท่านั้น นอกจากนี้ ในกรณีของ SMEs ที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านรูเปียะห์ต่อปี สามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
รัฐบาลอินโดนีเซียปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 25% เป็น 22% ตั้งแต่ปี 2563 ถือเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดที่อัตรา 25% ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศในอาเซียนอยู่ที่ 22.17%
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : กฎหมายฉบับใหม่มีการแบ่งฐานรายได้ของผู้เสียภาษีเงินได้ใหม่ โดยปรับฐานรายได้ของผู้เสียภาษีขั้นแรก (อัตรา 5%) เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 60 ล้านรูเปียะห์ต่อปี (ราว 4.2 พันดอลลาร์สหรัฐ) จากเกณฑ์เดิมไม่เกิน 50 ล้านรูเปียะห์ต่อปี (ราว 3.5 พันดอลลาร์สหรัฐ) และเพิ่มเกณฑ์ภาษีใหม่ที่อัตรา 35% สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีรายได้มากกว่า 5 พันล้านรูเปียะห์ต่อปี (ราว 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ)
ทั้งนี้ ผู้มีถิ่นที่อยู่ในอินโดนีเซีย รวมถึงบุคคลทั่วไปที่พำนักอยู่ในอินโดนีเซียมากกว่า 183 วัน ในระยะเวลา 12 เดือน หรือระยะเวลาตามปีภาษี จะต้องรวมรายได้จากทุกแหล่งเงินได้ที่ได้รับทั่วโลกมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขณะที่บุคคลที่มิได้มีถิ่นที่อยู่ในอินโดนีเซียหรือชาวต่างชาติจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียเท่านั้น โดยการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป
ภาษีคาร์บอน
อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รัฐบาลอินโดนีเซียจึงริเริ่มให้มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนเป็นครั้งแรก เพื่อใช้เป็นกลไกควบคุมระดับการปล่อยคาร์บอนภายในประเทศ และปูทางสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าภาษีคาร์บอนถือเป็น Highlight สำคัญของกฎหมายฉบับนี้ โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
- ภาษีคาร์บอนจะเรียกเก็บจากบุคคลหรือองค์กรที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะต้องนำปริมาณคาร์บอนส่วนเกินดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษี หรือที่เรียกว่าหลักการ Cap-and-Tax
- ภาษีคาร์บอนจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565
- เบื้องต้นจะเรียกเก็บภาษีคาร์บอนกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก
หมายเหตุ : โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์ที่กำหนดสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเกณฑ์ มาชดเชยแทนการจ่ายภาษีคาร์บอนได้
- อัตราภาษีคาร์บอนจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายคาร์บอนในตลาด แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 30 รูเปียะห์ต่อกิโลกรัมของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)
- รัฐบาลอินโดนีเซียจะพิจารณาขยายขอบเขตการเก็บภาษีคาร์บอนไปยังธุรกิจประเภทอื่นตามความเหมาะสมในอนาคต และจะผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading) อย่างเต็มรูปแบบผ่านตลาดคาร์บอนภายในปี 2568
รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลง 29% ภายในปี 2573 รวมถึงประกาศคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2603
มาตรการนิรโทษกรรมทางภาษี
Harmonized Tax Law ได้รวมมาตรการนิรโทษกรรมทางภาษีรอบใหม่ (Taxpayer Voluntary Disclosure Program) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีด้วยการปกปิดสินทรัพย์ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศสามารถยื่นแสดงทรัพย์สินดังกล่าวและนำกลับมาอยู่ภายใต้ระบบภาษีของอินโดนีเซีย โดยอัตราภาษีที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ 6-18% ขึ้นกับเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งยังคงต่ำกว่าบทลงโทษหากสินทรัพย์นั้นถูกตรวจพบโดยกรมสรรพากร ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียเคยใช้มาตรการนิรโทษกรรมทางภาษีมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี 2559-2560 โดยมาตรการในครั้งนั้นสามารถจูงใจให้มีการเปิดเผยทรัพย์สินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างรายได้ภาษีเข้าภาครัฐราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลกระทบที่ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามจากกฎหมาย Harmonized Tax Law
เป้าหมายหลักของการออกกฎหมาย Harmonized Tax Law มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐโดยการขยายฐานผู้เสียภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้นและส่งเสริมให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับด้านภาษี ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ซึ่งผลกระทบสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่
- การบริโภคของอินโดนีเซียอาจชะลอตัวจากการปรับขึ้น VAT และการถอดสินค้าและบริการบางรายการออกจากกลุ่มที่เคยได้รับการยกเว้น VAT เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายสินค้าและบริการในอินโดนีเซีย ซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากราคาวัตถุดิบทั่วโลก ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้การบริโภคของอินโดนีเซียอาจชะลอตัวและเป็นปัจจัยบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2565
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินในอินโดนีเซียมีแนวโน้มชะลอตัวสวนทางกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากมาตรการภาษีคาร์บอนจะทำให้ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น เหมืองถ่านหิน ในทางกลับกันนักลงทุนและภาคธุรกิจจะเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ชดเชยการปล่อยคาร์บอน อีกทั้งคาดว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้อินโดนีเซียบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต
- มาตรการนิรโทษกรรมทางภาษีคาดว่าจะช่วยให้อินโดนีเซียมีเงินลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การลงทุนเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซียในระยะข้างหน้า ท่ามกลางการบริโภคที่อาจอ่อนแรงจากการขึ้นภาษี VAT ทั้งนี้ ในช่วงเดือนแรกหลังจากเริ่มมาตรการนิรโทษกรรมทางภาษีรอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้เข้าร่วมโครงการและเปิดเผยทรัพย์สินแล้วราว 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและกฎหมายบ่อยครั้ง ซึ่งคาดว่าจะยังคงมีกฎระเบียบและรายละเอียดเพิ่มเติมที่ต้องติดตามภายหลังการออกกฎหมาย Harmonized Tax Law ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะเข้าไปทำการค้าหรือลงทุนในอินโดนีเซียจึงควรให้ความสำคัญและติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะบริหารจัดการธุรกิจ ตลอดจนวางแผนรับมือกับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อป้องกันข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายที่เปลี่ยนแปลง
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2565